กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์รายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “สคช. แถลงการณ์ ปปง. ยึดทรัพย์สินคืนจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ เปิดให้เหยื่อยื่นเรื่องขอรับทรัพย์สินคืน” รองลงมาคือเรื่อง “กรุงไทยเปิดเพจใหม่ชื่อ Krungthai KTX Stock Exchange” โดยขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความเสียหายให้กับข้อมูลส่วนบุคคลและทรัพย์สิน โดยหากมีการส่งต่ออาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 13 – 19 กันยายน 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 844,660 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 256ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 240 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 16 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 200 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 100 เรื่อง โดยในจำนวนนี้มีข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุด จำนวน 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง สคช. แถลงการณ์ ปปง. ยึดทรัพย์สินคืนจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ เปิดให้เหยื่อยื่นเรื่องขอรับทรัพย์สินคืน
อันดับที่ 2 : เรื่อง กรุงไทยเปิดเพจใหม่ชื่อ Krungthai KTX Stock Exchange
อันดับที่ 3 : เรื่อง กรมการจัดหางาน รับสมัครพนักงานเสริม บริษัท งานฝีมือ จำกัด อายุ 20 ปีขึ้นไป รับจำนวนจำกัด
อันดับที่ 4 : เรื่อง กรมการขนส่งทางบก เปิดเพจเฟซบุ๊ก ใบขับขี่ออนไลน์ DLT
อันดับที่ 5 : เรื่อง ปปง. ประกาศอายัดทรัพย์แก๊งคนร้าย เปิดรับคำร้องขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย
อันดับที่ 6 : เรื่อง เพจธนาคารออมสินปล่อยเงินกู้วงเงิน 5,000-1,000,000 บาท สำหรับอายุ 18 ปีขึ้นไป ผ่อนนาน 2 ปี
อันดับที่ 7 : เรื่อง เพจกรมพัฒนาแรงงานฝีมือเปิดรับสมัครงานทำที่บ้าน รายได้สูงสุด 8,685 บาทต่อสัปดาห์
อันดับที่ 8 : เรื่อง กระทรวงการต่างประเทศเปิดเพจเฟซบุ๊ก ต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์
อันดับที่ 9 : เรื่อง เพจเฟซบุ๊กศูนย์พัฒนาแรงงานฝีมือรับสมัครพนักงานแพ็กสินค้า
อันดับที่ 10 : เรื่อง เพจ Thai Oil Public CO.,LTD เปิดโอกาสให้ซื้อขาย เริ่มต้น 1,000 บาท กำกับดูแลโดย ก.ล.ต.
“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่เกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ จาก 10 อันดับ ข้างต้น พบว่า ทั้ง 10 อันดับเป็นข่าวการทำธุรกรรมที่มีการแอบอ้างถึงหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะอันดับ 1 ที่แอบอ้างว่า “สคช. แถลงการณ์ ปปง. ยึดทรัพย์สินคืนจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ เปิดให้เหยื่อยื่นเรื่องขอรับทรัพย์สินคืน” โดยเปิดให้ผู้เสียหายยื่นเรื่องผ่านเพจเฟซบุ๊ก ศูนย์คุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือประชาชน “เป็นข้อมูลเท็จ” ซึ่งเพจดังกล่าวเป็นเพจปลอมที่จัดทำขึ้นโดยมิจฉาชีพ” นายเวทางค์ กล่าว
กระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พบว่าข้อมูลตามที่ระบุในเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว เป็นข้อมูลเท็จ ซึ่งกรณีการยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายฯ ของสำนักงาน ปปง. ผู้ยื่นคำร้องต้องมีสถานะเป็นผู้เสียหายในความผิดมูลฐานที่ระบุ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาและในเว็บไซต์ของสำนักงาน ปปง. โดยมีช่องทางการยื่นคำร้อง 3 ช่องทาง ได้แก่
1. ยื่นด้วยตนเอง ณ สำนักงาน ปปง. หรือสถานที่อื่นที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด
2. ยื่นทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
3. ยื่นผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่สำนักงาน ปปง. กำหนด (จะมีการระบุไว้ในประกาศฯ) ซึ่งตามประกาศของสำนักงาน ปปง. กำหนดช่องทางการยื่นคำร้อง มี 3 ช่องทางดังที่กล่าวข้างต้นนี้เท่านั้น มิได้กำหนดให้ยื่นเอกสารทางอีเมลแต่อย่างใด โดยประชาชนสามารถรับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ https://www.amlo.go.th/index.php/th/ หรือ โทร. 02-219-3600
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด โดยสามารถสอบถามผ่าน สายด่วน 1111 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมกันนี้ขอให้ประชาชน ยึด “หลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ย. 67)
Tags: ข่าวปลอม, ดีอี, มิจฉาชีพ, เตือนภัย