น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 67 ที่ 2.6% จากแรงหนุนการฟื้นตัวส่งออก ท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ โดยในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะมีอัตราเติบโตที่สูงกว่าช่วงครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากน้ำท่วม แนวโน้มเศรษฐกิจหลักของโลกที่ชะลอตัว รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอลง ยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า และมีประเด็นที่ต้องจับตาคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพราะจะส่งผลต่อนโยบายการค้า การลงทุน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2567 ที่ 2.6% จากแรงหนุนการฟื้นตัวส่งออก ท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง 2567 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าช่วงครึ่งปีแรก จากปัจจัยฐานของการส่งออกและการลงทุน และการท่องเที่ยวช่วงฤดูกาล (High Season) รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ”
น.ส.ธัญญลักษณ์ กล่าว
ด้านอุตสาหกรรมไทย มองว่าจะยังอยู่ท่ามกลางปัญหา จาก 4 เรื่องหลักในช่วงที่เหลือของปี ได้แก่ 1.น้ำท่วม โดยผลกระทบจะมากขึ้นอีกถ้าสถานการณ์เกิดรุนแรงในภาคกลาง และภาคใต้ 2.บาทผันผวนสูง 3.การแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศ 4.ต้นทุนเพิ่ม โดยเฉพาะจากค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งทั้ง 4 เรื่อง กระทบเกษตร การผลิต และบริการ หลักๆ คือ SMEs โดยภาพทั้งปี 2567 ประเมินว่า รถยนต์ ที่อยู่อาศัย และก่อสร้าง เป็นกลุ่มธุรกิจที่ลำบากจากเครื่องชี้ด้านรายได้ที่หดตัว
ส่วนภาคการเงินนั้น โจทย์หลักยังคงเป็นเรื่องหนี้สินภาคครัวเรือน ที่จะยังเห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ใกล้ระดับ 90% ในอีก 1-3 ปีข้างหน้า ทำให้โอกาสการเติบโตสินเชื่อใหม่อยู่ในกรอบที่จำกัดกว่าเดิมมาก โดยสินเชื่อของระบบแบงก์ไทยปีนี้ คงโตไม่เกิน 1.5% ท่ามกลางความสามารถในการกู้ยืมของลูกหนี้ที่ลดลง
โดยผลสำรวจหนี้สินครัวเรือนประจำไตรมาส 3/2567 พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีสินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อรถเคยประสบปัญหาการชำระหนี้ ทำให้ต้องเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน ซึ่งปัญหาจะเชื่อมโยงกับการมีรายได้ในระดับไม่สูง มีเงินออมน้อย จึงทำให้อ่อนไหวมากกว่าลูกหนี้กลุ่มอื่น ๆ ขณะที่ผลสำรวจครั้งนี้ พบผู้ที่พึ่งพาหนี้นอกระบบ 8.2% ซึ่งต้องการความช่วยเหลือในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ วางแผนทางการเงิน และเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อใหม่ในระบบ นอกเหนือจากการแก้ที่ยั่งยืนด้วยการเพิ่มเสถียรภาพด้านรายได้ให้กับลูกหนี้ควบคู่ไปด้วย
“หนี้ครัวเรือน ที่แม้จะทยอยลดลงบางส่วนจากช่วงโควิด-19 แต่มองว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงใกล้ 90% ต่อ GDP ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ปัจจัยหลักมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจ ประเด็นความเสี่ยงของภาคการเงิน และการกดดันการบริโภคครัวเรือน”
น.ส.ธัญญลักษณ์ ระบุ
พร้อมกล่าวด้วยว่า ในระหว่างที่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกยังยืดเยื้อ รวมถึงปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในโลกที่ยังคงอยู่ ควบคู่กับทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกในขาลง คาดว่าจะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe-Haven Assets) อย่างทองคำ ยังได้รับแรงหนุน ซึ่งที่ผ่านมา ทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรตระหนักว่าความผันผวนของสินทรัพย์ต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะหลังจากช่วงโควิด ดังนั้น จึงยังต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน และกระจายความเสี่ยงให้ดีด้วย
น.ส.ธัญญลักษณ์ ยังกล่าวถึงทิศทางราคาทองคำสูงขึ้นว่า ปัจจัยหนึ่งที่หนุนให้ราคาสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างเช่นทองคำพุ่งสูง คือ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก ทั้งความขัดแย้งทางการเมือง และสงคราม นอกจากนี้ ดอกเบี้ยโลกยังอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งทำให้ราคาทองมีโอกาสขึ้นไปถึง 2,700-2,800 ดอลลาร์/ออนซ์ ได้
ด้านนายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ลดดอกเบี้ยลง 0.5% ในการประชุมที่ผ่านมามากกว่าที่คาดไว้ และได้ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยอีก 2% ภายในปี 2569 เป็นการเริ่มต้นของวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง ส่วนทิศทางเศรษฐกิจจีน มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่ 5% ในปี 2567 จากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่สิ้นสุด และรัฐบาลจีนยังไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอย่างชัดเจน รวมถึงยังเผชิญการกีดกันทางการค้าจีนจากทางตะวันตก
สำหรับยุโรป เศรษฐกิจเยอรมนี ยังส่งสัญญาณความเปราะบาง รวมถึงผลกระทบจากความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ยังสร้างความไม่แน่นอนให้กับภาคธุรกิจในยุโรปเพิ่มขึ้นด้วย โดยมีประเด็นที่ต้องจับตา คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพราะจะส่งผลต่อนโยบายการค้าการลงทุนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
พร้อมมองว่า การที่เฟดปรับลดดอกเบี้ย ก็ทำให้มีเหตุผลมากขึ้นที่อาจทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ยได้ ซึ่งมองว่าอาจมีแนวโน้มที่จะเห็นการลดดอกเบี้ย 1 ครั้งในปลายปีนี้ แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณการลดดอกเบี้ยจาก ธปท. ทั้งนี้ มองว่า ปัจจุบันสามารถลดดอกเบี้ยได้ เพราะตอนนี้เงินเฟ้อต่ำมาก และเงินบาทแข็งค่ามาก และภาวะเศรษฐกิจอยู่ในระดับกลาง ๆ ซึ่งการลดดอกเบี้ยยังเป็นการช่วยลดช่องว่างของเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ลงด้วย
อย่างไรก็ดี มีความกังวลเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งต้องจับตาว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐหรือไม่ เนื่องจากบาทแข็งจะกระทบกับผู้ส่งออกค่อนข้างมาก ในส่วนของภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจะยังไปได้ดี โดยปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะเกินเป้า 36 ล้านคน
“ปีนี้เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 2.6% ถึงแม้จะมีปัญหาน้ำท่วม แต่ก็มีนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เป็นปัจจัยบวกลบกันไป โดยภาคการส่งออกดีขึ้น แต่ยอดการลงทุนอาจติดลบเทียบปีก่อน ขณะที่การบริโภคนั้นดีขึ้น ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมต้องประเมินผลกระทบ เหตุการณ์ตอนนี้ยังควบคุมได้ มองว่ายังไม่น่าท่วมหนักเหมือนปี 54”
นายบุรินทร์ กล่าว
สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น หลัก ๆ ต้องช่วยเรื่องรายได้ หาโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่ม เพื่อลดหนี้ เข้าถึงสินเชื่อ หาวิธีเพิ่ม GDP กิโยตินข้อกฏหมายที่ซับซ้อน ทำให้กลุ่มธุรกิจสามารถแข่งขันได้ ดึงเม็ดเงินลงทุน ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาจะเป็นการลดหนี้สินที่ยั่งยืน
“ก็เห็นความพยายามของรัฐบาล เช่น Entertainment Complex พยายามสร้างรายได้ ดึงระบบเศรษฐกิจฐานรากขึ้นมา และ Negative Income ที่ให้คนเข้ามาในระบบภาษี เป็นต้น”
นายบุรินทร์ กล่าว
ขณะที่หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ มองว่าจะกระทบธุรกิจที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ธุรกิจที่ต้องแข่งขันจะไปต่อไม่ได้ ทั้งนี้ ยังเป็นการผลักให้บางธุรกิจหันไปใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคนมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนด้านแรงงานด้วย
ด้าน น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก ได้สร้างความไม่แน่นอนให้เศรษฐกิจไทย ซึ่งมองว่าเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง โอกาสในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่อยู่ตรงกลาง ในขณะที่ความเสี่ยงเกิดจากผลกระทบที่เกิดจากมาตรการกีดกันการค้าโลก และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากเกิด Trade War 2.0 ที่สหรัฐอเมริกา อาจมีการกำหนดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็น 60% และการนำเข้าจากที่อื่นๆ เป็น 10-20% น่าจะส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนอีกระลอก โดยเฉพาะสินค้าจีนที่ยังไม่โดนเก็บภาษีจาก Trade War 1.0 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ใช้แรงงานสูง (Labor-Intensive) และไทยอาจได้ผลบวกไม่มาก
น.ส.ณัฐพร กล่าวด้วยว่า การที่เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากการส่งออกไทยที่ขยายตัวสูงขึ้น จากเดิมที่คาดว่าจะโต 1.5% ปรับเป็น 2.5% ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกทองคำ อย่างไรก็ดี คาดว่าไทยจะยังเผชิญปัญหาขาดดุลการค้าต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
“ความสามารถในการส่งออกไทยไปได้ถึง 3.8% แต่เรายังมองบนปัจจัยความเสี่ยง ทั้งเศรษฐกิจหลักของโลกที่ชะลอลง และขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ขณะเดียวกัน ก็ขยับคาดการณ์นำเข้า จาก 3.5% เป็น 4.5% ด้วย”
น.ส.ณัฐพร กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีการปรับประมาณการเงินเฟ้อให้สอดคล้องกับตัวเลขจริง โดยคาดว่าไตรมาส 3/67 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 0.6% และไตรมาส 4/67 อยู่ที่ 1.4% แต่ภาพรวมทั้งปี คาดลดลงมาอยู่ที่ราว 0.5% (จากเดิม 0.8%)
ขณะที่ น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลก จะเพิ่มแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมไทยในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะการผลิต เช่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย อาจเสี่ยงเผชิญการผลิตที่ล้นเกิน เพราะยากจะหวังพึ่งการส่งออก และตลาดในประเทศคงไม่โตได้มากเท่าที่คาด
น.ส.เกวลิน ยังได้ประเมินมูลค่าความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ คาดว่าไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ถ้าสถานการณ์น้ำท่วมมีความรุนแรงมากขึ้น มาถึงภาคกลาง และภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจ ก็มีโอกาสที่ความเสียหายจะพุ่งไปแตะ 30,000 ล้านบาทได้ แต่มองว่ายังมีโอกาสน้อยมาก ที่จะมีความรุนแรงในระดับนั้น
ส่วนประเด็นเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ เบื้องต้นมองว่าหลายองค์กรได้จ่ายค่าจ้างเกิน 400 บาทไปแล้ว ทั้งนี้ มีมุมมองว่า อยากเห็นการปรับค่าจ้างไปตามทักษะของแรงงานแต่ละคนมากกว่า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ย. 67)
Tags: GDP, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, เศรษฐกิจไทย