นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวสุนทรพจน์ ในงาน BOT Symposium 2024 “The Economics of Balancing Today and Tomorrow” โดยระบุว่า ในรอบตัวทุกวันนี้ จะเห็นปัญหามากมายในระดับต่าง ๆ ที่สังคมกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นในระดับบุคคล หนี้ครัวเรือนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเพิ่มจาก 50% เป็น 90% ต่อ GDP ซึ่งมาพร้อมกับภาวะการเงินของครัวเรือนไทยที่เปราะบางมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปัจจุบัน 38% ของคนไทยมีหนี้ในระบบ มีปริมาณหนี้เฉลี่ยคนละ 540,000 บาท และส่วนใหญ่มีหนี้ที่อาจไม่ก่อให้เกิดรายได้ ครัวเรือนบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย ที่ต้องก่อหนี้ในช่วงที่ขาดรายได้จากวิกฤตโควิด กำลังเริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้เนื่องจากรายได้อาจยังไม่ฟื้นตัวดี ในขณะที่มีเพียง 22% ของคนไทยที่มีเงินออมในระดับที่เพียงพอ และเพียง 16% ที่มีการออมเพื่อการเกษียณอายุ
ส่วนในระดับประเทศ เราประสบปัญหาการลงทุนที่ต่ำต่อเนื่องมายาวนาน การลงทุนโดยรวมของไทยจากที่เคยโตเฉลี่ย 10% ต่อปีก่อนเกิดวิกฤตปี 2540 เหลือเพียง 2% ต่อปีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และในภาคอุตสาหกรรมไทย มีบริษัทเพียงไม่ถึง 3% เท่านั้นที่ลงทุนใน R&D ทำให้การลงทุนในด้านนี้ของไทยยังต่ำเพียงประมาณ 1% ของ GDP เทียบกับเกาหลีใต้ที่สูงถึง 5% ของ GDP ในระดับโลก เรากำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลให้เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเกิดขึ้นบ่อย และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
เหตุการณ์เหล่านี้กำลังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก ส่งผลกระทบและความเสียหายทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นกว่า 8 เท่าตัว ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาปัญหาดังกล่าวอาจดูแตกต่างกัน แต่กลับมีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง แท้จริงแล้ว ปัญหาเหล่านี้มีจุดร่วมที่สำคัญ คือ เป็นปัญหาที่เกิดจากการตัดสินใจโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในระยะสั้นเป็นหลัก และไม่ได้ให้ความสำคัญกับต้นทุนที่เกิดขึ้นในอนาคตมากเท่าที่ควร ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ปัญหาหนี้” ในนิยามกว้าง ๆ ที่ตัวเราเองในอนาคต หรือคนรุ่นหลังจะต้องมาชดใช้ในภายหน้า
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า ในบริบทของประเทศไทยเอง มีตัวอย่างของนโยบายในอดีตที่ให้น้ำหนักกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากเกินไป ซึ่งมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่านโยบายเหล่านั้นอาจส่งผลต่อประเทศในระยะยาว เช่น งานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ แสดงให้เห็นว่า นโยบายพักหนี้เกษตรกรในอดีตที่ทำในวงกว้าง ทำอย่างต่อเนื่องยาวนาน และไม่มีเงื่อนไขการรักษาวินัยทางการเงินที่ดี ส่งผลให้ลูกหนี้กว่า 60% มีโอกาสเป็นหนี้เรื้อรัง และกว่า 45% มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ในทางกลับกัน นโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว ที่อาจต้องแลกมาด้วยต้นทุนในวันนี้ ก็เป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้น เช่น การเพิ่มรายได้ภาษีในรูปแบบต่าง ๆ ที่จะทำให้ฐานะทางการคลังของประเทศยั่งยืนขึ้น หรือการเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา ที่จะทำให้เราสามารถพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศให้พร้อมสำหรับวันข้างหน้า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ กำลังทำให้ประเทศเสียโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพ เสริมสร้างเสถียรภาพในระยะยาว ก่อให้เกิด “ปัญหาหนี้” ที่แม้จะไม่ใช่เรา แต่คนที่อยู่ในประเทศของเราต้องแบกรับในอนาคต
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า นโยบายการเงินมีต้นทุน และผลประโยชน์ที่ผู้ดำเนินนโยบายต้องพยายามรักษาสมดุลระหว่างระยะสั้น และระยะยาว ธนาคารกลางทั่วโลกมีพันธกิจที่คล้ายคลึงกัน คือ ไม่เพียงต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัว แต่ต้องเสริมสร้างให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยเสถียรภาพด้านราคาและเสถียรภาพระบบการเงินเป็นพื้นฐานสำคัญ ธนาคารกลางจึงถูกออกแบบมารองรับการดำเนินนโยบายการเงินที่ให้น้ำหนักกับเสถียรภาพในระยะยาว ถึงแม้การกระตุ้นเศรษฐกิจจะสามารถทำได้ผ่านการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างรวดเร็วในระยะสั้น แต่ต้องแลกมาด้วยภาวะเงินเฟ้อ และเป็นการสะสมความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจ
การก่อหนี้เกินตัว หรือพฤติกรรมการเก็งกำไรของนักลงทุน จะฉุดรั้งการเติบโตในระยะยาว นำไปสู่วิกฤติร้ายแรงได้ หน้าที่ในการมองยาวของธนาคารกลาง คือ ต้องมาพร้อมความอิสระในการดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุพันธกิจ หลายครั้งในการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง ต้องทำนโยบายในลักษณะที่สวนทางวัฎจักรเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบต่อทุกภาคส่วนในวงกว้าง และย่อมมีผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์
ดังนั้น หากธนาคารกลางไม่อิสระเพียงพอ ก็อาจทำให้เสียหลักการในการมองยาว งานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า ความมีอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เกิดเสถียรภาพด้านราคา ตัวอย่างงานวิจัย ของ IMF ในปี 2023 พบว่าประเทศที่ธนาคารกลางเป็นอิสระและน่าเชื่อถือ สามารถยึดเหนี่ยวการคาดการณ์การเงินเฟ้อได้ดีกว่า และประสบความสำเร็จในการดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ
ที่ผ่านมา ธปท.ได้ดำเนินการหลายด้านเพื่อช่วยให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพ มีประสิทธิภาพในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินนโยบายการเงินที่คำนึงถึงเสถียรภาพเป็นสำคัญให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันต้องไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงสะสมในระบบ การออกมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม เพื่อยกระดับมาตรฐานของสถาบันการเงินให้มีความรับผิดชอบต่อลูกหนี้ตลอดวงจรการเป็นหนี้ และส่งเสริมให้คนไทยมีวินัยทางการเงิน อันจะเป็นรากฐานสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน และการพัฒนาระบบการเงินที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง เพื่อสนับสนุนครัวเรือนและธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจในโลกยุคใหม่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ย. 67)
Tags: ธนาคารแห่งประเทศไทย, หนี้ครัวเรือน, เศรษฐกิจไทย, เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ, แบงก์ชาติ