ผู้เลี้ยง จี้พาณิชย์แก้ปัญหาหมูแพงให้ตรงจุด ชี้ราคาอาหารสัตว์พุ่งจากนโยบายในปท.

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จี้กระทรวงพาณิชย์แก้ไขโครงสร้างการกำหนดราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพราะส่งผลให้ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ของไทยมีราคาสูง ทั้งนี้ โครงสร้างต้นทุนการผลิตสุกรของประเทศไทย มีต้นทุนส่วนใหญ่ 65-70% มาจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลนโยบายโดยกระทรวงพาณิชย์ที่มีราคาสูงมาก ทั้งกลุ่มพืชโปรตีน ได้แก่ กากถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

“กากถั่วเหลือง มีการบวกกำไรเกินกว่าเหตุ จนทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์กลุ่มโปรตีนของไทย เป็นกลุ่มที่มีราคาสูงที่สุดในโลก รวมถึงข้าวโพดในไทย ที่แพงถึงกว่า 10 บาท/กก. ในขณะที่ราคาข้าวโพดต่างประเทศ อ่อนตัวลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับราคา 5-6 บาท/กก. เท่านั้น นี่คือสาเหตุหลักที่ รมว.พาณิชย์ ควรต้องเข้าไปดูโครงสร้างการกำหนดราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่แตะต้องไม่ได้มาเป็นเวลา 7 ปี โดยมีมาตรการ 3 ต่อ 1 ที่ยังคงทำให้ราคาข้าวโพดสูงอย่างต่อเนื่อง และมีเงื่อนงำ” นายสิทธิพันธ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ปัญหาเหล่านี้ เป็นปัญหาใหญ่ที่กลุ่มเกษตรกรเรียกร้องมาตลอด ซึ่งคาดว่ากลุ่มเกษตรกรรายย่อย อาจจะใช้มาตรการทางกฎหมาย เช่น การไปยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในเร็ว ๆ นี้ กรณีการประพฤติมิชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จากการไม่ได้รับคำตอบหรือการแก้ไขในเรื่องนี้

โดยก่อนหน้านี้ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงเนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้าจากประเทศบราซิล เหตุใดจึงมีราคาถูก ทั้งที่เสียค่าใช้จ่ายใต้โต๊ะรายทาง และมาวางขายในตลาดเมืองไทย แต่กลับมีราคาถูกกว่าหมูในประเทศ ข้อเท็จจริงคือเป็นเพราะต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ของบราซิลต่ำมาก ซึ่งสมาคมฯ มองว่า ข้อเท็จจริงเป็นเพราะต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ของบราซิลต่ำกว่าไทยมาก

ด้านนายเดือนเด่น ยิ้มแย้ม ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า รัฐบาลควรพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายอาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร หากปัญหานี้ได้รับการแก้ไข เชื่อว่าผู้เลี้ยงสามารถทำต้นทุนเฉลี่ยได้ 60 บาท/กก. สามารถแข่งขันกับบราซิลได้แน่นอน ที่สำคัญเนื้อหมูไทยคุณภาพดี ปลอดภัยจากสารเร่งเนื้อแดง และสดสะอาดกว่าหมูที่มาจากบราซิล

“รัฐบาลควรมองมุมกลับ แทนที่จะนำเข้าหมูจากบราซิล หรือขายหมูไทยให้ถูกเท่ากับบราซิล เปลี่ยนเป็นการส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงหมูไทย ผลิตเพื่อการส่งออกเหมือนกับบราซิล จะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน นอกจากจะช่วยนำเงินตราเข้าประเทศแล้ว ยังช่วยให้คนไทยได้บริโภคเนื้อหมูในราคาที่เหมาะสม ช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนตามเป้าหมายของรัฐบาล และยังช่วยสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตจากการส่งออกเนื้อสัตว์” นายเดือนเด่น กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ย. 67)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top