นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) คนใหม่ กล่าวว่า เมื่อได้อาสาเข้ามาแล้วก็มีความตั้งใจและมั่นใจในการนำพาองค์กรเดินหน้าต่อไป โดยมีวิสัยทัศน์ในการลดภาระหนี้ เพิ่มรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความพอใจในการให้บริการ ส่วนจะทำได้มากน้อยแค่ไหนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน ซึ่งจะต้องลงไปในรายละเอียดแต่ละเรื่อง โดยในช่วง 3 เดือนแรกอาจจะจัดการเกี่ยวกับระบบระเบียบที่เกี่ยวกับการทำงานก่อน การแบ่งงานต้องชัดเจนและโครงสร้างองค์กรต้องมีประสิทธิภาพ
“ยอมรับว่าการแก้ปัญหาต่าง ๆ คงไม่สามารถทำได้ในเวลาอันรวดเร็ว ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรทุกคนใน ร.ฟ.ท. หลังจากนี้จะเร่งศึกษางานอย่างเร่งด่วนและพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งพนักงานรถไฟ และสหภาพฯ ก่อน เพื่อทำความรู้จัก และรับฟังความเห็นว่าอยากให้พัฒนา ร.ฟ.ท.ไปในแนวทางใด โดยขอเวลาประมาณ 20-30 วัน จากนั้นจะแถลงแนวทางนโยบายการทำงานที่ชัดเจนต่อไป”
– ปัญหาหนี้สินของ ร.ฟ.ท.ที่มีอยู่กว่า 2 แสนล้านบาทนั้น ต้องแยกแยะออกมาให้ชัดเจนว่า เป็นภาระผูกพัน และเป็นภาระหนี้ของ ร.ฟ.ท.จริง ๆ แค่ไหน
– การเพิ่มรายได้นั้น มองว่า ร.ฟ.ท.มีที่ดินและทรัพย์สินค่อนข้างมาก แต่ที่ผ่านมายังมีประเด็นติดขัดอะไร รวมถึงกรณีบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ที่เป็นบริษัทลูกยังทำงานติดขัด
– ด้านการลงทุนของ ร.ฟ.ท.เป็นอีกเรื่องที่เพิ่มภาระหนี้สิน แต่ก็เป็นการเพิ่มหนี้เพื่อสร้างประโยชน์ด้านคมนาคมขนส่ง ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งมีเป้าหมายให้ระบบรางของไทยเป็นขนส่งสาธารณะหลักในการเดินทาง
“ตอนนี้ภาวะของ ร.ฟ.ท.อยู่ในช่วงต่ำสุดของ U Curve แล้ว กำลังจะผงกหัวขึ้น ผมเชื่อว่าแนวทางหนึ่งคือ นโยบาย รมว.คมนาคมที่เร่งการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง จะช่วยให้รถไฟเดินหน้าไปตามเป้าหมาย” นายวีริศ กล่าว
ส่วนโครงการเร่งด่วนที่มีปัญหาติดขัดในบางจุด ทั้งการส่งมอบพื้นที่ การต่อรองสัญญา และอื่น ๆ คงต้องไปดูกันในรายละเอียดในประเด็นเหล่านั้น เพื่อผลักดันให้เดินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะประสานรองผู้ว่าการฯ ผู้ช่วยฝ่ายต่าง ๆ ไปก่อน เช่น การแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับโครงการเอกชนร่วมลงทุนต่าง ๆ (PPP) จากการศึกษาโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบังมีปัญหาล่าช้ามานาน เดิมเคยขนส่งได้ 2 ล้านทีอียู ตอนนี้เหลือ 1 ล้านทีอียู ทำให้ภาคเอกชนหันไปใช้รถยนต์แทนก็ต้องเร่งแก้ไข เพราะจะเป็นส่วนที่จะสร้างรายได้ให้ ร.ฟ.ท.ได้มาก ส่วนงานอื่นๆ เห็นว่าต้องเร่งทำตั้งแต่ตอนนี้ เพราะขั้นตอน PPP ใช้เวลา 2-3 ปีกว่าจะสำเร็จ
ไขข้อข้องใจปมคุณสมบัติ
นายวีริศ ชี้แจงข่าวมีคุณสมบัติขัดต่อประกาศรับสมัครเป็นผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. โดยยืนยันว่า เป็นไปตามกระบวนการ โดยได้ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และฝ่ายกฎหมายมาตลอด
“การมาเป็นผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ก็เป็นจังหวะหนึ่งที่ผมคิดว่าผมสามารถทำได้ ผมจึงสมัครเข้ามา ดังนั้นต้องบอกว่า ถ้าท่านสุริยะจิ้มมา แล้วผมไม่อยากมา ผมก็ไม่มา เพราะฉะนั้น ผมบอกได้ครับว่าเป็นความตั้งใจของผม” นายวีริศ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ย. 67)
Tags: การรถไฟแห่งประเทศไทย, ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย, ร.ฟ.ท., วีริศ อัมระปาล