คืบหน้าคดีผู้ลงทุนหุ้น STARK ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีแบบ Class Action ช่วง 6-8 พ.ย.

สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) แจ้งความคืบหน้าของการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) สำหรับผู้เสียหายกลุ่มผู้ลงทุนในหุ้นสามัญของ บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) ว่า ศาลแพ่งกรุงเทพใต้นัดสืบพยานในชั้นไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่มในวันที่ 6 – 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 -16.30 น. หลังจากโจทก์ฯ ได้ยื่นคำฟ้องและคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.1061/2567 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา

TIA ในฐานะศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือผู้ลงทุนรายบุคคลที่ลงทุนในหุ้นสามัญ STARK ในการดำเนินคดีแบบ Class Action โดยได้เปิดระบบออนไลน์ลงทะเบียนผู้เสียหายที่ลงทุนในหุ้นสามัญ STARK รอบที่ 1: ระหว่าง วันที่ 19-25 มิถุนายน 2566 มีผู้เสียหายเข้ามาลงทะเบียน 1,759 ราย รวมมูลค่าความเสียหาย 4,039 ล้านบาท จากนั้นได้เปิดระบบออนไลน์ลงทะเบียนรอบที่ 2: ระหว่าง 17-30 เมษายน 2567 มีผู้เสียหาย เข้ามาลงทะเบียน จำนวน 1,207 ราย

ต่อมาโจทก์ตัวแทนผู้เสียหายกลุ่มผู้ลงทุนในหุ้นสามัญ STARK ได้ยื่นฟ้อง STARK บริษัทในเครือ และกรรมการที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด รวม 10 ราย เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ. 1061/2567 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และโจทก์ฯได้ประสานงานกับสมาคมฯ เพื่อขอให้แจ้งข่าวสารแก่ผู้เสียหายรายอื่นๆ ด้วย

โดยการฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องคดีแพ่งฐานละเมิดและการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อเรียกค่าเสียหาย และขอดำเนินคดีแบบ Class Action เพื่อให้ผลของคำพิพากษาครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้เสียหายที่เป็นผู้ลงทุนในหุ้นสามัญรายอื่นๆ ด้วย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1. ขอบเขตของสมาชิกกลุ่มผู้เสียหายกลุ่มผู้ลงทุนในหุ้นสามัญ คือ เป็นบุคคลที่เข้าซื้อหรือขายหุ้นสามัญของ STARK ในช่วงระยะเวลาแห่งความเสียหาย (Class Period) กล่าวคือ ในช่วงเวลาระหว่าง วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 – วันที่ 16 มิถุนายน 2566 (ช่วงที่มีการเผยแพร่งบการเงินเท็จของ STARK)

2. การเข้าซื้อหุ้นในข้อ 1. สามารถแบ่งประเภทผู้เสียหายออกเป็น 3 กลุ่มย่อย (Sub-Class) ได้แก่ 1. ผู้เสียหายที่เข้าซื้อหุ้นสามัญ STARK และยังถือหุ้นอยู่/ 2. ผู้เสียหายที่เข้าซื้อหุ้นสามัญ STARK และขายหุ้นออกบางส่วน/ 3. ผู้เสียหายที่เข้าซื้อหุ้นสามัญ STARK และขายหุ้นออกแล้วทั้งหมด

3. การเรียกค่าเสียหายเป็นการเรียกค่าเสียหายโดยคำนวณจากส่วนต่างของราคาหุ้นที่ซื้อขายกับราคาหุ้นที่แท้จริงของ STARK ที่ควรจะเป็นหากไม่มีการเปิดเผยข้อมูลงบการเงินเท็จ ซึ่งหลักในการคำนวณค่าเสียหายดังกล่าวสามารถปรับใช้กับผู้เสียหายทุกกลุ่มย่อยตามข้อ 2. ได้

4. หากเป็นผู้เสียหายกลุ่มผู้ลงทุนในหุ้นสามัญตาม ข้อ 1. และ ข้อ 2. ข้างต้น ทุกคนถูกนับรวมอยู่ในสมาชิกกลุ่มของการดำเนินคดีแบบกลุ่ม – Class Action และหากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มก็จะส่งผลให้ทั้งโจทก์ฯ และสมาชิกกลุ่มมีผลทางคดีร่วมกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ย. 67)

Tags: , , ,
Back to Top