หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดดอกเบี้ย 0.50% แนวโน้มของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมที่เหลืออีก 2 ครั้งของปีนี้จะเป็นอย่างไร มีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยหรือไม่ แล้วแนวโน้มค่าเงินบาทจะมีทิศทางเป็นอย่างไร วันนี้ “อินโฟเควสท์” จะพาไปดูมุมมองของนักวิเคราะห์แต่ละธนาคารว่า มีความคิดเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไรบ้าง
*CIMBT เชื่อ กนง.รอบ ต.ค.นี้ยังไม่ลดดอกเบี้ย รอลุ้น ธ.ค.
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) มีมุมมองเรื่องดอกเบี้ยไทยว่า ในรอบการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนต.ค.ที่จะถึงนี้คาดว่าจะยังไม่ปรับลดดอกเบี้ย เนื่องจาก 3 ปัจจัย
1. รอดูทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่จะประกาศ GDP ไตรมาส 3/67 ในเดือนพ.ย.นี้
2. รอดูรอบการประชุมของเฟดในเดือนพ.ย.ว่าจะลดดอกเบี้ย 0.25% อย่างที่ฉายภาพไว้หรือไม่ หรือจะลดดอกเบี้ยแรงต่อเนื่องจากครั้งนี้ที่ลดไปถึง 0.50% หรือไม่
3. รอติดตามผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ คาดว่าจะมีความชัดเจนในเดือนพ.ย.
นายอมรเทพ เชื่อว่า ในรอบการประชุม กนง.เดือนธ.ค. หรือการประชุมครั้งสุดท้ายของ กนง.ในปีนี้มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% เนื่องจากเป็นช่วงที่ปัจจัยต่าง ๆ ในตลาดเงินตลาดทุนมีความชัดเจน และภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยก็จะชัดเจนขึ้นเช่นกัน พร้อมกับเชื่อว่ามาตรการแจกเงินของรัฐบาลน่าจะไม่ได้เกิดผลรุนแรงต่อภาวะเงินเฟ้อ ส่วนมาตรการแจกเงินเฟส 2 ยังต้องรอดูผลกระทบก่อน
อย่างไรก็ดี มี 2 ปัจจัยที่อาจทำให้ กนง.ตัดสินใจไม่ลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธ.ค. คือ
1. กังวลเรื่องเงินเฟ้อจากมาตรการแจกเงินหมื่นบาท เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจไทยไม่ได้ใหญ่เหมือนสหรัฐฯ การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อได้
2. หากมีการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จะทำให้ดอกเบี้ยลดลงอัตโนมัติ โดยไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยนโยบาย
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงต่อจากนี้ นายอมรเทพ มองว่าจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค โดยที่ผ่านมาดอลลาร์อ่อนค่าเนื่องจากตลาดคาดการณ์เรื่องการลดดอกเบี้ยของเฟด แต่หลังจากนี้มองว่าไม่จำเป็นที่เงินบาทจะต้องอยู่ในทิศทางแข็งค่าเมื่อเทียบดอลลาร์ และน่าจะกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น โดยจากนี้ไปคงต้องรอดูปัจจัยอื่น ๆ ทั้งความกังวลในตลาดเงินและตลาดทุน และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ค่าเงินบาทช่วงปลายปี 67 ยังมีโอกาสอ่อนค่าเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 33.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจัยเรื่องการลดดอกเบี้ยของไทยที่น่าจะเกิดขึ้นในเดือนธ.ค. และการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ที่อาจมีความกังวลหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจทำให้ตลาดผันผวนได้
น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้มุมมองเรื่องดอกเบี้ยของไทยในปี 67 ว่า ในช่วงหลัง ๆ มองว่า ธปท.เปิดโอกาสเรื่องการลดดอกเบี้ยมากขึ้น และล่าสุดที่เฟดประกาศลดดอกเบี้ย 0.50% ก็เป็นการเพิ่มโอกาสในการลดดอกเบี้ยของ กนง.ที่จะใช้พิจารณากำหนดนโยบายการเงินในการประชุมครั้งต่อ ๆ ไป
อย่างไรก็ตาม การลดดอกเบี้ยของ กนง. ยังขึ้นอยู่กับบริบทของประเทศไทย ซึ่งตอนนี้เงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ ประกอบกับเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะเติบโตได้ดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเรื่องเสถียรภาพทางการเงินที่ ธปท.ออกมาระบุว่าถ้าเห็นภาวะการเงินที่ตึงตัวมาก และไม่สอดคล้องกับดอกเบี้ยนโยบาย ธปท. ก็พร้อมที่จะปรับลดดอกเบี้ย ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กนง.ในการประชุมรอบเดือน ต.ค. และธ.ค. อีกครั้ง
แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองเดิมให้น้ำหนักว่า ในปี 67 นี้ กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยระดับเดิมไว้ตลอดทั้งปี แต่ก็มีโอกาสมากขึ้นที่ กนง.จะลดดอกเบี้ยได้ ขณะที่ในปี 68 มองว่า กนง.มีโอกาสลดดอกเบี้ยในไตรมาส 1/68 ราว 0.25%
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้ ตลาดได้รับรู้ไปแล้วว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในการประชุมที่เหลือ ดังนั้น หลังจากนี้ถ้าไม่มีปัจจัยอะไรมาเซอร์ไพรส์ตลาด ทิศทางค่าเงินดอลลาร์ก็จะอยู่ในขาอ่อนค่า และค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่า และท้ายที่สุดตลาดจะเป็นไปตามพื้นฐานตลาดเศรษฐกิจ โดยประเมินเงินบาทช่วงสิ้นปี 67 อยู่ที่ 34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ด้าน น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า แม้เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบล่าสุดลงถึง 0.50% แต่เรายังให้มุมมองเดิมว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25% ไปตลอดปีนี้ และจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยลงในช่วงครึ่งแรกของปี 68 โดยคาดว่าจะลด 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ลงมาสู่ระดับ 2.00% ได้ในช่วงสิ้นปี 68
ทั้งนี้ จากการที่เฟดประเดิมวัฎจักรดอกเบี้ยขาลง ด้วยการลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ไม่ถือว่าเกินความคาดหมายมากนัก เนื่องจากการสื่อสารของเฟดชัดเจน และเตรียมการมาอย่างถี่ถ้วนว่าต้องการรักษาการจ้างงาน ซึ่งอยู่ในภาวะค่อนข้างแข็งแกร่ง
“จะเห็นได้ว่าตลาดไม่ตื่นตระหนก แม้จะมีการปรับสถานะของนักลงทุนบ้าง อีกทั้งเฟดเปิดทางเลือก และยืดหยุ่นว่าอาจจะลดดอกเบี้ยในขนาดที่น้อยกว่า 0.50% ต่อรอบประชุมได้ในระยะถัดไป ตามข้อมูลเศรษฐกิจที่ได้รับ” น.ส.รุ่ง กล่าว
อย่างไรก็ดี สำหรับปัจจัยในประเทศที่ กนง.จะใช้ประกอบการพิจารณาหากจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงนั้น คาดว่า กนง.จะพิจารณาคุณภาพสินเชื่อประกอบการตัดสินใจด้านดอกเบี้ยนโยบาย โดยหากภาวะการเงินตึงตัว จนกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในวงกว้าง ก็จะเปิดทางให้ กนง. สามารถผ่อนคลายนโยบายได้
ส่วนทิศทางค่าเงินบาทนั้น มองว่า หลังจากเฟดลดอัตราดอกเบี้ยลงในครั้งนี้ เงินบาทอาจจะอ่อนค่าลงได้ชั่วคราว อันเนื่องจากการทำ sell on fact (sell the first cut) ก่อนที่เงินบาทจะแข็งค่าลงมารอบใหม่ แถวบริเวณ 33 บาท/ดอลลาร์
*KTB เก็ง กนง.คงดอกเบี้ยแน่
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย (KTB) ระบุว่า การปรับลดดอกเบี้ยลง 0.50% ของเฟดในรอบนี้ เฟดมีความมุ่งหวังว่าจะช่วยบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้น และอยู่ในทิศทาง Soft Landing ซึ่งเมื่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะต่อไปมีแนวโน้มดีและน่าจะเติบโตได้ตามคาด จึงเชื่อว่าจะทำให้ กนง.จะไม่ปรับเปลี่ยน Outlook ที่จะมีผลต่อการพิจารณาปรับดอกเบี้ยนโยบายของไทย
“การที่เฟดเร่งลดดอกเบี้ยรอบนี้ มองว่า ถ้าเร่งไปแล้วเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น การจ้างงานเต็มศักยภาพ Soft Landing เศรษฐกิจโต 2% ถือว่าดี ซึ่งอาจทำให้ ธปท.เอาตรงนี้เป็นสารตั้งต้นในการตัดสินการคาดการณ์ของเขา ว่าในเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็โตได้ตามคาด อาจทำให้ ธปท.ไม่กังวลในเรื่องการชะลอตัวลงมากนักของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า หรือเศรษฐกิจสหรัฐ ดังนั้น จากนโยบายดอกเบี้ยของเฟดเมื่อคืน ก็ไม่ได้ทำให้มุมมองการประเมิน outlook ของธปท.เปลี่ยนไป แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด คงไม่ได้เปลี่ยนใจแบงก์ชาติขนาดนั้น เพระ outlook ยังโอเค” นายพูน ระบุ
อย่างไรก็ดี อาจมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาในช่วงปลายปี โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งหาก “โดนัลด์ ทรัมป์” ชนะเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ นโยบายกีดกันทางการค้าย่อมถูกนำออกมาใช้อย่างแน่นอน ซึ่งก็จะมีผลกระทบมาถึงการส่งออกของไทยด้วย รวมทั้งความเสี่ยงว่าอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ จะสูงขึ้นหรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อการปรับมุมมองเศรษฐกิจสหรัฐที่อาจจะแย่กว่าคาด และจะเป็นปัจจัยที่ถูกส่งต่อมาเพื่อประเมินทิศทางดอกเบี้ยของ กนง.
อย่างไรก็ดี ณ วันนี้ ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนของความเสี่ยงดังกล่าว จึงทำให้คาดว่าภายในปีนี้ กนง.จะยังไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง โดยจะยังคงไว้ที่ระดับ 2.50% และอาจจะเริ่มลดดอกเบี้ยในปีหน้า
“ถึงอย่างไรบ้านเราก็ต้องลด (ดอกเบี้ย) แต่ ณ วันนี้ ยังไม่เห็นภาพความเสี่ยงที่ชัดเจน ธปท.อาจจะคงดอกเบี้ยในปีนี้ไว้ก่อน ปีหน้ายังไงก็ต้องลด เพราะภาพความเสี่ยง น่าจะเห็นความชัดเจนได้มากขึ้น” นายพูน ระบุ
โดยคาดว่าจะเริ่มเห็น กนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงต้นปี 68 หรือไม่เกิน 2 ครั้งตลอดทั้งปีหน้า หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงหรือแย่กว่าที่คาด โดยเป็นการปรับลดลงครั้งละ 0.25%
“ถ้าประเมินโอกาสให้แค่ 30-40% ที่จะเห็นการลดดอกเบี้ยของ กนง.ในปลายปีนี้ ไม่ให้มากกว่านี้ รู้ว่า ธปท.กังวลเรื่อง Credit Quality (ความสามารถในการชำระหนี้) ซึ่ง ธปท.ก็บอกว่ามีนโยบายอื่น ๆ ที่เจาะจงมากกว่าในการแก้ปัญหา ดังนั้น มองว่าไม่ใช่จุดที่ ธปท.จะใช้นโยบายดอกเบี้ยมาช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ แต่หากมีความเสี่ยงภายนอกที่เข้ามากระทบ outlook เต็ม ๆ จึงจะเหมาะสมที่จะใช้ดอกเบี้ยนโยบายเข้ามาช่วย” นายพูน กล่าว
ส่วนทิศทางค่าเงินบาทนั้น จากที่เริ่มเห็นดอกเบี้ยขาลงของเฟด แต่แนวโน้มการปรับลดลงก็ไม่ได้แข็งกร้าวมาก มองว่าในระยะสั้นค่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวน แต่เงินบาทได้ผ่านจุดแข็งค่าสุดในปีนี้ไปแล้ว และการกลับมาอ่อนค่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งต้องจับตาในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพ.ย. ที่เงินบาทจะรับรู้ความเสี่ยงการเมืองสหรัฐมากขึ้น อาจมีผลให้บาทอ่อนค่าไปที่ 34.00-34.75 บาท/ดอลลาร์ได้หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง และในเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นช่วงปลายปีจะมีปัจจัยบวกในประเทศเข้ามาสนับสนุน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ก็จะทำให้เงินบาทแข็งค่ากลับมาอยู่ในช่วง 33.75-34.00 บาท/ดอลลาร์ได้
“บาทคงไม่แข็งค่าต่อ จากนี้บาทต้องเริ่มรับรู้ความเสี่ยงการเมืองสหรัฐ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่า หากทรัมป์ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี ทำให้เดือนพ.ย. เงินบาทอาจะอ่อนค่าไปที่ 34.00-34.75 บาท จากนั้นเดือน ธ.ค. ที่ปัจจัยในประเทศของเราดี บาทจะกลับมาแข็งค่าได้ ประมาณ 33.75-34.00 บาท ในช่วงปลายปี” นายพูน ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ย. 67)
Tags: SCOOP, ZoomIn, กนง., คณะกรรมการนโยบายการเงิน, ธนาคารกลางสหรัฐ, ธนาคารแห่งประเทศไทย, อัตราดอกเบี้ยนโยบาย, เฟด