ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ พัฒนา Halal Route แอปพลิเคชันชี้พิกัดแหล่งร้านอาหาร ที่พัก มัสยิด ทิศละหมาด และสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ที่สอดคล้องตามหลักการท่องเที่ยววิถีอิสลาม หวังช่วยนักท่องเที่ยวมุสลิมเดินทางในประเทศไทยอย่างสบายใจ และยังเป็นการหนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เติบโต พร้อมรับกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิมที่มีจำนวนมากขึ้น
การท่องเที่ยวฮาลาล หรือการท่องเที่ยววิถีอิสลาม เป็นทิศทางการท่องเที่ยวที่น่าจับตา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมราว 168 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวก่อนการเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ถึง 5%
ผลจากการจัดอันดับจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลกโดย Mastercard-Crescent Rating Global Muslim Travel Index หรือ GMTI 2024 เผยว่าประเทศไทยเป็นอันดับที่ 32 ที่นักท่องเที่ยวมุสลิมนิยมไป
“ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละประมาณ 30 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนักท่องเที่ยว 100 คน จะเป็นชาวมุสลิมอยู่ 20 คน ถือเป็นจำนวนที่เยอะและมีแนวโน้มจะเติบโตมากขึ้นทุกปี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจึงควรให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ แต่ปัจจุบันการจัดการท่องเที่ยวที่รองรับวิถีการท่องเที่ยวฮาลาลยังไม่เพียงพอ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเงื่อนไขในการปรับเปลี่ยนการให้บริการให้ได้มาตรฐานฮาลาลมีความยุ่งยากและมีรายละเอียด การจัดการบริการนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมจึงไม่ค่อยแพร่หลายนัก” รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปัญหาที่นำไปสู่การพัฒนาแอปพลิเคชัน “Halal Route”
“คำว่า วิถีฮาลาลไม่ได้มีแค่เรื่องอาหาร แต่มันครอบคลุมการใช้ชีวิตในทุก ๆ ด้านของชาวมุสลิม แอปพลิเคชันนี้จะเชื่อมโยงการเดินทางท่องเที่ยวทั่วไทยให้พี่น้องมุสลิมจากทั่วโลกเดินทางพร้อมปฏิบัติศาสนกิจได้ตามหลักศาสนาอิสลาม”
หลังจากที่แอปพลิเคชัน Halal Route เปิดตัวให้ผู้สนใจดาวน์โหลดได้ฟรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ.2020) ก็มีการอัปเดตและอัปเกรดอย่างต่อเนื่อง และได้รับการรีวิวที่ดีจากผู้ใช้งาน รศ.ดร.วินัยมั่นใจว่าแอปพลิเคชัน “Halal Route” จะช่วยผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมได้มากยิ่งขึ้น และในขณะเดียวกัน ก็ช่วยพี่น้องเพื่อนชาวมุสลิมให้เดินทางท่องเที่ยว กิน พักผ่อนทั่วประเทศไทยได้อย่างสบายใจสอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม
คุณอิรฟัน แวหะมะ เจ้าหน้าที่บริการวิทยาศาสตร์ในทีมพัฒนา Halal Route App กล่าวว่า”Halal Route เป็นแอปพลิเคชันที่รวบรวมข้อมูลสำหรับการค้นหาร้านอาหารฮาลาล มัสยิด สถานที่ละหมาด เวลา-ทิศละหมาด สถานที่ท่องเที่ยว หมู่บ้านหรือชุมชนมุสลิม โรงแรมที่พัก ฯลฯ”
“แอปนี้เชื่อมโยงกับ Google Map ช่วยนำทางนักท่องเที่ยวไปยังสถานที่ที่ต้องการได้อย่างแม่นยำ แถมรองรับ 3 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ และอารบิก เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวมุสลิมสามารถใช้ชีวิต และท่องเที่ยวสไลต์ฮาลาลในประเทศไทยได้สะดวกสบาย และอุ่นใจยิ่งขึ้น”
ดร.อาณัฐ เด่นยิ่งโยชน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ย้ำจุดเด่นของแอปพลิเคชัน Halal Route ว่าอยู่ที่ข้อมูลที่เชื่อถือได้และครอบคลุมการท่องเที่ยวไทยวิถีฮาลาลมากที่สุดในปัจจุบัน
“ร้านอาหารและสถานที่ที่ปรากฏในแอปพลิเคชันล้วนมีการเยี่ยมชมสถานที่จริง และถูกตรวจสอบตามมาตรฐานที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานหรือองค์กรที่เชื่อถือได้ เช่น การรับรองจากองค์กรศาสนาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอาหารฮาลาล รวมถึงระบบบริหารจัดการเพื่อรับประกันและรับผิดชอบต่อสภาพฮาลาล (ระบบ HAL-Q) เป็นต้น” ดร.อาณัฐกล่าวให้ความมั่นใจ
ดร.อาณัฐเผยว่าปัจจุบัน แอปพลิเคชัน Halal Route มีผู้ประกอบการร้านอาหารอยู่ในฐานข้อมูลจำนวนกว่า 1,100 ราย และยังคงมีการอัปเดตข้อมูลสถานที่และบริการใหม่ ๆ อยู่เสมอ ทั้งนี้ ข้อมูลร้านอาหารและบริการต่าง ๆ ในแอปพลิเคชันครอบคลุมเส้นทางหลัก 6 เส้นทางในกว่า 40 จังหวัด จากเหนือจรดใต้ของประเทศไทย ที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไป
ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน Halal Route เปิดใช้งานมากกว่า 4 ปีแล้ว มียอดการดาวน์โหลดแอปฯ กว่าหนึ่งหมื่นราย สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการและโอกาสตลาดการท่องเที่ยวฮาลาล ซึ่งในอนาคต รศ.ดร.วินัยเผยว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ มีแผนเพิ่มขีดความสามารถให้แอปพลิเคชัน Halal Route สามารถกดสั่งอาหารได้และกดตัดบัตรชำระเงินได้
“ทีมนักวิจัยจะช่วยกันทบทวนข้อมูลร้านอาหารที่มีอยู่เดิม เพื่อปรับปรุงข้อมูลสถานที่ รูปภาพ เมนูอาหาร รวมถึงสำรวจร้านใหม่ ๆ มัสยิด สถานที่ละหมาด นอกจากนี้ ในปีนี้ เราจะเพิ่มข้อมูลที่จำเป็นสำหรับชาวมุสลิม ได้แก่ สถานบริการด้านสุขภาพที่เป็นมิตรต่อผู้ป่วยชาวมุสลิม กิจกรรมพิเศษที่ถูกจัดขึ้นทั่วไทยที่มีความเหมาะสมสำหรับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมจากทั่วโลก เช่น งานวิ่งมาราธอน กิจกรรมทางประเพณีของไทยในวาระต่าง ๆ เป็นต้น”
“สำหรับทีมผู้พัฒนา Halal Route แอปพลิเคชันนี้ไม่ใช่เครื่องมือนำทาง สั่งอาหาร หรืออำนวยความสะดวกสบายให้นักท่องเที่ยวชาวมุสลิมเท่านั้น แต่จะมีส่วนสำคัญในการหนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยวิถีฮาลาลให้เติบโตแบบก้าวกระโดด”
“และที่สำคัญ แอปพลิเคชัน Halal Route จะเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงชุมชนชาวมุสลิมจากทั่วโลกที่มีโอกาสมาเยือนไทย ได้มาพูดคุย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์ความประทับใจในมุมต่าง ๆ ของประเทศไทยด้วย” รศ.ดร.วินัยกล่าวทิ้งท้าย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ย. 67)
Tags: Halal Route, การท่องเที่ยวฮาลาล, ชาวมุสลิม, นักท่องเที่ยว, นักท่องเที่ยวต่างชาติ, อิสลาม, ฮาลาล, แอปพลิเคชัน