นายกฯ เรียก ททท. หารือแผนกระตุ้นท่องเที่ยวปี 68 จ่อฟื้น “เราเที่ยวด้วยกัน-คนละครึ่ง”

น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยภายหลังเข้าพบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยว่า นายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงสถานการณ์การท่องเที่ยว พร้อมหารือถึงการเตรียมความพร้อม เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในปี 2568 โดย ททท. จะนำเรื่องนี้เสนอนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้งภายใน 1-2 สัปดาห์นี้

ทั้งนี้ ททท. จะมีการจัดทำภาพรวมการท่องเที่ยวในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ การจัดอีเวนต์หรือกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการอำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวว่า สิ่งใดที่นักท่องเที่ยวมีความต้องการเพิ่มเติม เช่น สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ซึ่งจะหยิบยกขึ้นมาดู เพราะถือว่าเป็นธุรกิจของทุกชาติ ที่ต้องการมีระบบจ่ายเงินที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศต้นทางได้ ซึ่งในประเด็นนี้นายกรัฐมนตรีก็ได้รับปากแล้วว่าจะไปพิจารณาให้

น.ส.ฐาปนีย์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วงปลายปีโดยจะต้องเป็นการกระตุ้นแบบลงทุกพื้นที่ และมองว่าภาพรวมการท่องเที่ยวของประเทศไทยจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวสามารถมีดัชนีชี้วัด ไม่ว่าจะเป็นการจัดอันดับต่าง ๆ ที่ต่างชาติดำเนินการจัดอันดับ เป็นดัชนีความนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยังความสำคัญเรื่องความปลอดภัยและความมั่นใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวด้วย

สำหรับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการคนละครึ่ง จะนำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวหรือไม่นั้น ผู้ว่าฯ ททท. กล่าวว่า ดูจากการมอบนโยบายของนายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.ท่องเที่ยวและกีฬาว่า โครงการด้านใดที่ดี และตอบโจทย์ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยวต้องมาดูในรายละเอียดเพื่อดำเนินโครงการ ให้ครอบคลุมต่อไป ซึ่งนายสรวงศ์ไม่ได้ปิดโอกาสในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยมีมาแล้ว ส่วนจะมีการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวอื่น ๆ เพิ่มเติมหรือไม่ นางฐาปนีย์ กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้

ทั้งนี้ มีโจทย์ใหญ่ที่นายกรัฐมนตรีให้ไปแก้ไขในเรื่องการท่องเที่ยวเรื่องใดเป็นพิเศษหรือไม่ ผู้ว่าฯ ททท. กล่าวว่า เป็นเรื่องเป้าหมายที่รัฐบาลเคยตั้งไว้ ทั้งรายได้ จำนวนนักท่องเที่ยว ต้องพยายามทำให้ได้ ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงไฮซีซันก็ต้องลุ้นจำนวนตัวเลขอีกที แต่ด้วยสถานการณ์ทั่วโลกตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติ อุทกภัย ไม่ได้เกิดในประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่ยังเกิดในทั่วโลก ดังนั้น จะต้องนำมาพิจารณาความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น จากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

น.ส.ฐาปนีย์ ยังกล่าวว่า ขณะที่การเดินทางท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นสายการบินที่เป็นปฐมฤกษ์บินเข้ามายังไทย จากข้อมูลพบว่าในเดือนต.ค. นี้ มีเข้ามาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการสนับสนุนทำให้นักท่องเที่ยวจากใหม่ ๆ เดินทางเข้ามา โดยเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะเพิ่มขึ้นได้ แต่ในเรื่องของรายได้ แม้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนมาก แต่การใช้จ่ายเงินก็มีการรัดเข็มขัดมากขึ้นในหลายประเทศ ประกอบกับเรื่องเศรษฐกิจในประเทศต้นทาง ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวใช้เงินค่อนข้างรัดกุมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยใกล้ 25 ล้านคนแล้ว ดังนั้นเหลือเวลาอีก 3 เดือนครึ่ง ซึ่งอยู่ในช่วงไฮซีซัน ก็อยากให้เป็นไปตามที่ตั้งเป้า 30-35 ล้านคน โดยกลุ่มตลาดการท่องเที่ยวหลักที่มุ่งเน้นอยู่ คือตลาดจีน อินเดีย เกาหลี มาเลเซีย และรัสเซีย ก็ยังเป็นตลาดหลักที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นกลุ่มดาวฤกษ์เข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก

ขณะที่กลุ่มตลาดดาวรุ่ง หรือกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวใหม่ จำเป็นต้องเพิ่มการตลาดมากขึ้น ก็ได้รับอานิสงส์ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มตลาด CIS ประกอบด้วยคาซัคสถาน อุซเบกิสถาน ถือเป็นกลุ่มตลาดที่เติบโตสูงมาก นอกจากนี้ ยังมีท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบีย ที่เติบโตสูงเช่นเดียวกัน หรือในกลุ่มอาเซียนอย่าง ลาว เวียดนามก็มีอัตราส่วนที่เติบโตมากขึ้นตามลำดับ และกลุ่มยุโรป อเมริกา ฝรั่งเศสเยอรมัน อังกฤษ ก็ยังเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ย. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top