มองมุมต่าง: ICHI หุ้นกำไรคุณภาพสูง แต่ “Market Price” กลับสวนทางพื้นฐานแข็งแกร่ง

ภาพรวมของราคาหุ้น บมจ.อิชิตัน (ICHI) ที่ Underperform พื้นฐานความเป็นจริง แม้จะมีการเติบโตด้านยอดขาย และกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบ 7 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า “เกิดอะไรขึ้นกับราคาหุ้นของ อิชิตัน ที่ไม่ได้โตตามยอดขายและกำไรสุทธิ”

ขอย้อนกลับไปช่วง ปี 2557 ปีที่ ICHI เข้าเทรดในตลาดหุ้น มียอดขาย 6,179 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1,078 ล้านบาท ราคาหุ้นเคยขึ้นไปสูงสุดที่ 29.75 บาท

เวลาผ่านไป 10 ปี มาถึงช่วงครึ่งแรกของปีนี้ (2567) บริษัทมียอดขาย 4,499 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 742 ล้านบาท และมีแนวโน้มทิศทางตลอดทั้งปีว่าจะมียอดขายประมาณ 9,000 ล้านบาท และ มีกำไรสุทธิประมาณ 1,400 ล้านบาทตามการประเมินของนักวิเคราะห์ ทำให้เห็นชัดว่าในปีนี้ ทั้งยอดขายและกำไรสุทธิของบริษัทจะทำจุดสูงสุด (All Time High) โดยมีเหตุผลมาจาก ยอดขายที่เพิ่มมากขึ้น และการมีอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) หรือมาร์จิ้นสูงขึ้น

สาเหตุหลักที่ GPM เติบโตขึ้นเป็น 26% เกิดจากการบริหารต้นทุนบรรจุภัณฑ์ที่ต่ำลง การปรับสูตรลดน้ำตาลที่เป็นหนึ่งในต้นทุนหลักลง ,การลดค่าใช้จ่ายด้ายโฆษณาลง รวมถึงการมี Economy of Scale ตามกำลังผลิตที่สูงขึ้น

กำไรสุทธิที่เกิดขึ้นในวันนี้ ถือเป็น “กำไรสุทธิที่มีคุณภาพสูง” ที่ไม่ใช่ “เรื่องชั่วคราว” เพราะทั้งหมดล้วนแล้วมาจากการบริหารจัดการที่เป็นระบบ และมีการวางแผนรองรับการขาดแคลนแรงงาน โดยใช้ระบบกรีน แฟคทอรี หรือ Automation System ที่สามารถรันกำลังการผลิตได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงการมีคลังเก็บสินค้าขนาดใหญ่ ฯลฯ

“ผลกำไรสุทธิที่มีคุณภาพสูง”ของ ICHI มาจากความคิดที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน เพื่อใช้แก้ปัญหา และเพื่อขยายกำลังการผลิตในอนาคต และข้อสำคัญเป็นบริษัทที่ไร้หนี้สิน กับสถาบันการเงินใดๆ

อีกทั้งไม่ได้เป็น “กำไรสุทธิ” ที่เกิดจากการไปลงทุนในธุรกิจอื่น แต่ทั้งหมดล้วนเป็นกำไรที่มาจาก Core Business 100% คือการขายชาเขียวพร้อมดื่ม และเครื่องดื่ม Non Alcohol

นอกจากนี้ สินค้าของ ICHI มีการเติบโตที่มีความโดดเด่น เหนือคู่แข่ง และไม่ได้อยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติ หรือ หักล้างหลักสถิติ ที่ว่า “ฤดูฝน-ฤดูหนาว ยอดขายเครื่องดื่มจะลดลง” และคำว่า ช่วงโลว์ซีซัน ใช้กับธุรกิจของ ICHI ไม่ได้

เนื่องจากบทพิสูจน์จาก ยอดขายและกำไรสุทธิที่เติบโตต่อเนื่องมานานเกือบ 7 ปี เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ไตรมาสที่จะมียอดขายสูงสุด คือ ไตรมาสถัดไป แม้แต่ในปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะในไตรมาส 4/67 จะมีเครื่องจักรเข้ามาเพิ่มกำลังการผลิตอีก 200 ล้านขวด ทำให้บริษัทสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 20% รวมถึงการผลิตด้านอื่นๆ อาทิ รับจ้างผลิต (OEM) และหันมาผลิตสินค้าที่เน้นตัวมาร์จิ้นสูงๆให้เพิ่มมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ได้เกิดขึ้นจากการวางแผนและบริหารจัดการมานานนับ 10 ปี ที่จะเพิ่มยอดขาย เพิ่มกำไร เพิ่มมาร์จิ้น ลดต้นทุนการผลิต ต้นทุนค่าแรง ทุนน้ำตาล ต้นทุนขนส่ง และต้นทุนอื่นๆที่จะทำให้กำไรต่อหน่วยของบริษัทสูงกว่าคู่แข่ง และอุตสาหกรรม

ในเมื่อทุกอย่างดีหมด แต่ทำไมราคาหุ้นถึงอยู่ต่ำกว่าพื้นฐาน? แถมต่ำกว่าราคาเป้าหมายที่ consensus ให้ไว้อีกต่างหาก?

เพราะในแต่ละบทวิเคราะห์ ยังมีเขียนถึงความกังวลของฤดูกาล ที่จะทำให้ยอดขายของอิชิตัน drop ลง โดยลืมคิดไปว่า สินค้าของอิชิตัน อยู่เหนือธรรมชาติ หรือพฤติกรรมของผู้บริโภค ถ้าไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถเติบโตผ่าน 8 ฝน 8 หนาวมาได้อย่างที่เห็น

การแก้ปัญหาเรื่องราคาหุ้น ICHI ที่ไม่สมกับพื้นฐาน หรือความเป็นจริง ที่ยังไม่นับความซื่อตรงที่ผู้บริหารไม่ยอมนำพาผู้ถือหุ้นรายย่อยไปเดินเกมเสี่ยง อาทิ เอาหุ้นไปจำนำ ไปกู้เงินมาขยายธุรกิจที่ตนเองไม่ถนัด ไม่เข้าใจ หรือ ธุรกิจตามกระแส ฯลฯ

จากนี้ไปบริษัทต้องทำสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เคยทำมาก่อน ทั้งในแง่ของการประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสารเชิงหุ้นของบริษัท

ในทางกลับกัน ควรมุ่งเน้นไปให้ข้อมูลกับนักลงทุนต่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้นแทน เนื่องจาก ความไม่ชัดเจน หรือ ความยากในการเข้าถึงข้อมูลในบริษัทที่ดีมีกำไรเติบโต น่าจะทำให้ไม่เกิดความคาดหวังล่วงหน้า และไม่ต้องเจอกับปัญหาของ “Sell on Fact” หรือ “Consensus Earning Estimate” จากนักวิเคราะห์

ขอให้ยึดหลักที่ว่า “ของดี ไม่จำเป็นต้องโฆษณาบ่อยๆ” ในเมื่อสังคมของคนเล่นหุ้น เชื่อกันว่า “หุ้นที่มักจะมีข่าวดีปล่อยออกมาบ่อยๆ ส่วนใหญ่ราคาหุ้นจะไม่ไปไหน” เพราะทุกคนรู้หมดแล้ว มันไม่ตื่นเต้น

เหตุที่ราคาหุ้น ICHI ไม่ได้รับสนใจจากนักลงทุนรายย่อย น่าจะไม่ต่างอะไรกับ ภาพยนตร์ที่ใกล้เข้าฉาย (งบไตรมาสออก) ถูก นักรีวิวหนัง “สปอยล์”เนื้อหาสำคัญหรือ ความลับของหนัง ไปหมดเรียบร้อยแล้ว ความน่าสนใจก็น่าจะหายไปเช่นกัน

ธิติ ภัทรยลรดี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ย. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top