เช็คหลักเกณฑ์-เงื่อนไข รับเงินเยียวยาน้ำท่วม ที่นี่!!

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า ในระหว่างวันที่ 16 ส.ค.-18 ก.ย. 67 เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 30 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู ปราจีนบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ระยอง ชุมพร ภูเก็ต ยะลา นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง สตูล รวม 151 อำเภอ 676 ตำบล 3,596 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 141,387 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตรวม 45 ราย และได้รับบาดเจ็บรวม 24 คน

โดยปัจจุบัน ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย สุโขทัย พิษณุโลก หนองคาย อุดรธานี บึงกาฬ อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ตรัง และสตูล รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบ 38 อำเภอ 181 ตำบล 912 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 28,651 ครัวเรือน

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (17 ก.ย.) ได้ได้อนุมัติกรอบวงเงิน 3,045.52 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยเป็นค่าดำรงชีพเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ประสบภัยเป็นกรณีพิเศษ

สำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 จะแบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้

(1) กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินเสียหาย รวมถึงกรณีน้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท

(2) กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 7,000 บาท

(3) กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 60 วันขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 9,000 บาท

ในส่วนของการพิจารณาเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยนั้น ได้กำหนดเงื่อนไขการขอรับเงินเยียวยาเป็น 2 ส่วน ดังนี้

(1) ต้องเป็นบ้านที่อยู่อาศัยประจำในพื้นที่ที่ได้มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและ/หรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยต้องมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกให้ (ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 30) และจะต้องผ่านการประชาคมหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ประสบสาธารณภัย รวมถึงจะต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากสำนักงานเขตและกรุงเทพมหานคร

(2) กรณีที่ประสบภัยหลายครั้ง จะได้รับความช่วยเหลือเพียงครั้งเดียว

ขณะนี้ ปภ. ได้จัดทำแนวทางปฏิบัติและเตรียมหารือร่วมกับจังหวัดที่ประสบอุทกภัยเพื่อกำหนดแนวทางการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดให้มีความชัดเจน และสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนได้ตามกรอบระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ และจะได้เร่งทำข้อมูลชี้แจงสร้างความเข้าใจหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนผู้ประสบภัยได้รับทราบโดยเร็ว เพื่อจะได้เตรียมในการยื่นขอรับเงินช่วยเหลือต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ย. 67)

Tags: , , ,
Back to Top