น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย กล่าวถึงการแจ้งเตือนสาธารณภัยให้แก่ประชาชน ว่า การแจ้งเตือนของพื้นที่มีหลายรูปแบบ ทั้งแบบลายลักษณ์อักษร เจ้าหน้าที่ออกประกาศเสียงตามสายผ่านเครื่องกระจายเสียง และการประชาสัมพันธ์ผ่านคลื่นวิทยุ
ส่วนพื้นที่มหาวิทยาลัยพะเยาที่น้ำเข้าท่วมสูงนั้น น.ส.ธีรรัตน์ มองว่า เพราะเป็นพื้นที่ของเอกชน ที่อาจจะเข้าไม่ถึงการเตือนในรูปแบบที่ข้าราชการดำเนินการ ดังนั้นสิ่งที่กำลังมองในอนาคต คือ การแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งในการประชุมที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์แล้ว ก็จะแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือได้
ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการทำให้ระบบมีความพร้อม และได้ดำเนินการมาตั้งแต่สมัยที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นเจ้าภาพวางระบบเรื่องนี้ แต่ต้องยอมรับว่าในพื้นที่มหาวิทยาลัยพะเยา ฝนตกในช่วงกลางดึก ประมาณ 02.00 น. อีกทั้งยังมาเร็วและแรง ทำให้เมื่อประชาชนตื่นขึ้นมาอาจตกใจได้ พร้อมยืนยันว่า มีการแจ้งเตือนและมีระบบที่พร้อมอยู่แล้ว
สำหรับกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการแจ้งเตือนมีความล่าช้า น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า ในทุกพื้นที่เจ้าหน้าที่แจ้งเตือนไปแล้ว แต่ประชาชนยังรอติดตามสถานการณ์อยู่ จึงไม่ได้เตรียมพร้อมเรื่องการขนย้าย
ส่วนที่นายรัฐมนตรีได้กำชับให้ลดขั้นตอนเรื่องเอกสารการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย นั้น น.ส.ธีรรัตน์ ยืนยันว่า จะดำเนินการให้เร็วที่สุด โดย ปภ. จะไปสำรวจความเสียหาย และเร่งชดเชยเยียวยา ซึ่งได้มอบหมายให้ทุกกระทรวงลงไปช่วยดูการเยียวยาของประชาชนด้วย แต่สิ่งที่น่ากังวลขณะนี้ คือ จำนวนบุคลากรที่ยังไม่เพียงพอ จึงขอให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ย. 67)
Tags: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์, น้ำท่วม, ปภ., พะเยา, มหาวิทยาลัยพะเยา, อุทกภัย