นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เปิดเผยถึงการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ในวันที่ 20 ก.ย.นี้ว่า หากตัวแทนฝ่ายนายจ้างไม่เข้าร่วมหารืออีกเป็นครั้งที่ 2 ว่า คณะกรรมการไตรภาคีค่าแรงขั้นต่ำมีหลักเกณฑ์ว่า หากฝ่ายนายจ้างไม่เข้าร่วมประชุมสามารถใช้เสียง 2 ใน 3 โหวตและลงมติได้
“อย่างไรก็ดี เข้าใจว่าคณะกรรมการฝ่ายนายจ้างเดือดร้อน และอึดอัด แต่ก็ขอให้เข้าใจว่าต้องเห็นใจฝ่ายลูกจ้าง วันนี้ราคาสินค้าก็ได้ขึ้นไปล่วงหน้าก่อนที่จะประกาศขึ้นค่าแรง จะไม่บอกว่าเป็นการหาเสียงของพรรคใดพรรคหนึ่ง เพราะในการแถลงนโยบายของรัฐบาลก็มีเรื่องเงื่อนไขค่าแรงขั้นต่ำมาเป็นนโยบาย แต่ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้เป็นรมว.แรงงาน ก็ต้องดูถึงความสมดุลระหว่างคนทำงานกับนายจ้าง” นายพิพัฒน์ กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์
สำหรับการช่วยบรรเทาผลกระทบของนายจ้างนั้น นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ได้มีการหารือว่าร่วมกับสำนักงานประกันสังคม ในการลดเงินนำส่งสำหรับนายจ้าง 1% จาก 5% เหลือ 4% เป็นระยะเวลา 12 เดือน (แบ่งเป็น 2 ช่วง)
นอกจากนี้ ยังได้หารือกับกระทรวงการคลังว่ามีมาตรการอะไรบ้างที่จะช่วยเยียวยาผู้ประกอบการ โดยได้ไปดูรายละเอียดเมื่อปี 2555 ที่ได้มีการประกาศขึ้นค่าแรงขึ้น 300 บาทเท่ากันทั้งประเทศว่า กระทรวงการคลังเคยมีการเยียวยาอะไรบ้าง ซึ่งจะนำมาตรการที่เคยใช้มาเยียวยาให้ผู้ประกอบการให้ได้มากที่สุด
ส่วนสุดท้าย คือกระทรวงการคลังอาจต้องหางบประมาณและหารือกับสถาบันการเงิน เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ ขณะเดียวกัน ได้ประชุมหารือกับคณะกรรมการประกันสังคมว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะดึงเงินก้อนหนึ่งออกมาเหมือนช่วงวิกฤติโควิด-19 ให้ประกันสังคมนำเงินมาช่วยผ่านสถาบันทางการเงิน โดยให้กู้ในลักษณะดอกเบี้ยต่ำได้หรือไม่
อย่างไรก็ดี เท่าที่ได้พูดคุยหารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในเบื้องต้น ตอนนี้มาตรการช่วยเหลือนายจ้างที่ได้แน่นอน คือเอารายจ่าย 1.5 เท่า (ของค่าแรงที่เพิ่มขึ้น) มาเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อหักลดหย่อนภาษีได้ อย่างไรก็ดี เชื่อว่ามาตรการในส่วนของกระทรวงคลังมีมากกว่านี้ ตอนนี้อยู่ระหว่างหารือเพิ่มเติม
ทั้งนี้ มาตรการต่าง ๆ ที่จะบรรเทาผลกระทบของนายจ้าง คาดว่าจะได้ข้อสรุปในสัปดาห์หน้า โดยหากประชุมไตรภาคีในวันที่ 20 ก.ย. นี้จบ จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทันในวันที่ 24 ก.ย. อย่างไรก็ดี หากไม่ทันสัปดาห์หน้าก็จะนำเข้าครม.ในวันที่ 1 ต.ค. และเมื่อเข้าครม. เสร็จแล้วจะมีการประกาศให้มีผลใช้ทันที
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ย. 67)
Tags: กระทรวงแรงงาน, ขึ้นค่าแรง, นายจ้าง, พิพัฒน์ รัชกิจประการ