นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เผยปลัดกระทรวงแรงงานเตรียมทำหนังสือเชิญตัวแทนฝ่ายนายจ้างเข้าร่วมหารือถึงการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทอีกครั้งในวันที่ 20 ก.ย.นี้ หลังจากเมื่อวานนี้ (16 ก.ย.) ตัวแทนฝ่ายนายจ้างติดภารกิจไม่ได้เข้าร่วมประชุม ทำให้ปลัดกระทรวงแรงงานได้ประชุมร่วมกับตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง และตัวแทนฝ่ายภาคราชการเท่านั้น
“ผมขอความกรุณากรรมการฝ่ายนายจ้างทั้ง 5 ท่าน ท่านควรมาใช้สิทธิของท่านในฐานะที่ท่านเป็นกรรมการไตรภาคีเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งแน่นอนว่าถ้ากรรมการฝ่ายลูกจ้างมาครบ กรรมการฝ่ายราชการมาครบ แต่หากท่านไม่มาประชุม ท่านปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานบอร์ดไตรภาคีก็คงมีมาตรการในการที่จะเดินหน้าในการประชุม เพราะด้วยระเบียบและกฎเกณฑ์ของการเรียกประชุม เรามีกฎเกณฑ์ของเราอยู่แล้ว ผมก็อยากเชิญกรรมการฝ่ายนายจ้างขอให้เข้ามาหารือในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ที่กระทรวงแรงงาน” นายพิพัฒน์ กล่าว
รมว.แรงงาน กล่าวว่า เราคงจะต้องเดินหน้าตามเป้าหมาย คือ ต้องประกาศค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาท ในวันที่ 1 ตุลาคมอย่างแน่นอน การที่กรรมการที่เป็นฝ่ายนายจ้างไม่มาประชุม ปลัดกระทรวงแรงงานก็คงจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ เมื่อครั้งที่ 2 ไม่มาประชุมอีก เราจะใช้กรรมการที่มีอยู่ในห้องประชุมแต่ต้องมีไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 เป็นการโหวต เมื่อโหวตตรงนั้นท่านไม่มาใช้สิทธิ์ของท่าน เราถือว่าท่านสละสิทธิ์ เราก็จะต้องโหวตและเดินหน้าไปตามนโยบาย
“สิ่งต่างๆ ผมที่กล่าวในสภาก็หมายความว่า พวกเราชาวกระทรวงแรงงาน เราอยู่ตรงกลางเรา เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำอย่างไรให้อยู่ในจุดสมดุลที่ดีที่สุด ตัวผมเอง ท่านปลัด ท่านอธิบดี หรือผู้บริหารในกระทรวงแรงงาน ทุกกรมพวกเราต้องพยายามหาจุดสมดุลให้ดีที่สุด เพื่อให้นายจ้าง ลูกจ้าง ต้องเดินหน้าไปพร้อมๆ กันให้ได้ ส่วนกรณีที่จะต้องมีการเยียวยาจากกระทรวงการคลัง ผมเองได้หารือกับท่านปลัดแล้ว และท่านปลัดได้เดินทางไปเจรจากับทางกระทรวงการคลังแล้ว ซึ่งทางสภาพัฒน์เองก็มีข้อยุติในระดับนึง ส่วนมาตรการของกระทรวงแรงงาน ในเรื่องของประกันสังคม เรามีข้อยุติเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อก่อนที่จะประกาศค่าแรงขั้นต่าที่ 400 บาท ในการประชุมในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ เมื่อประชุมเสร็จเราก็จะสรุปและนำมาตรการต่างๆ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่ามีมาตรการอะไรที่จะไปช่วยเหลือให้กับนายจ้างบ้าง ซึ่งแน่นอนในปี 2555 เรามีประสบการณ์นี้ไปแล้ว เราก็จะล้อประสบการณ์จากปี 2555 มาใช้ให้ได้มากที่สุดสำหรับปี 2567 เช่นกัน” นายพิพัฒน์ กล่าว
รมว.แรงงาน กล่าวว่า ได้รับหนังสือคัดค้านการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าเกือบทุกจังหวัด รวมถึงสภาอุตสาหกรรมจังหวัด โดยระบุตรงกันว่ายังไม่พร้อมที่จะขึ้นค่าแรง แต่ความพร้อมหรือไม่ ตนขอให้มองถึงมิติว่า ในวันนี้ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันได้ขึ้นราคาไปล่วงหน้าแล้ว หากรัฐบาลยังไม่ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตนคิดว่าผู้ใช้แรงงานคงรับไม่ไหว ซึ่งต้องยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยเราในขณะนี้ไม่ค่อยดี ยังไม่ฟื้นตัว ก็หวังว่าหลังจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เข้ามาบริหารประเทศก็น่าจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแจกเงินให้กับผู้ด้อยโอกาส หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 12 ล้านคน และบัตรคนพิการอีกประมาณ 2 ล้านคนเศษ รวมแล้วประมาณ 14.5 ล้านคน งบประมาณ 145,000 ล้านบาท เมื่อเงินก้อนนี้เข้าสู่ระบบก็จะทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนที่ดีขึ้น เศรษฐกิจของเราก็จะค่อยๆ ทยอยดีขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ย. 67)
Tags: กระทรวงแรงงาน, ค่าแรงขั้นต่ำ, พิพัฒน์ รัชกิจประการ