ฟิทช์ ให้เรทติ้งสากลเป็นครั้งแรกแก่ MTC ที่ BB แนวโน้ม Steble และเครดิตหุ้นกู้ BB(EXP)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating: IDR) แก่ บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) ที่ BB และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ที่ A- (tha) โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิต มีเสถียรภาพ

พร้อมกันนี้ฟิทช์ยังได้ให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่คาดว่าจะให้ (expected rating) แก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ MTC ที่จะออกเสนอขายในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ BB(EXP) วัตถุประสงค์ของการออกหุ้นกู้เพื่อใช้สำหรับโครงการที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์หุ้นกู้เพื่อสังคมของบริษัท อันดับเครดิตที่คาดว่าจะให้ดังกล่าวจะสมบูรณ์ต่อเมื่อฟิทช์ได้รับเอกสารฉบับจริงที่สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้รับมาแล้ว

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต

อันดับเครดิตพิจารณาจากโครงสร้างเครดิตของบริษัท: อันดับเครดิตของ MTC สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งและประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถในประเทศไทยคุณภาพสินทรัพย์ที่อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ระดับหนี้สินที่อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และผลประกอบการในระดับที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับความเสี่ยง อย่างไรก็ดี อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงปัจจัยด้านโครงสร้างความเสี่ยงของบริษัทที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงเนื่องมาจากการมุ่งเน้นในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีฐานรายได้ต่ำ การมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อในระดับสูง รวมทั้งการดำรงสภาพคล่องส่วนเกินที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำและโครงสร้างการระดมทุน (funding profile) ที่ค่อนข้างกระจุกตัว แต่มีแนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ อันดับเครดิตภายในประเทศของ MTC ซึ่งสะท้อนมาจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของบริษัท และยังพิจารณาถึงโครงสร้างเครดิตของบริษัทเทียบกับบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับในประเทศจากฟิทช์

สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานจำกัดการฟื้นตัว: คุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในประเทศไทยปรับตัวด้อยลงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว การจำกัดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากหน่วยงานกำกับ และสภาพการแข่งขันที่รุนแรงในบางกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงิน แม้ว่าฟิทช์คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (คาดการณ์การเติบโตของ GDP ที่ 2.6% ในปี 2567 และ 3.5% ในปี 2568) แต่ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-bank lenders) น่าจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่นักในระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากแรงกดดันที่ยังคงมีอยู่จากหนี้ครัวเรือนของประเทศที่อยู่ในระดับสูง (91% ของ GDP ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567)

ผู้นำในธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ: MTC เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย โดยพิจารณาจากมูลค่าเงินให้สินเชื่อและจำนวนสาขา ภาคธุรกิจสินเชื่อที่มีผลตอบแทนสูงประเภทดังกล่าวนี้ผู้ครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดส่วนใหญ่ คือ MTC และผู้ประกอบการที่เป็นสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารอีกสองรายที่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการหลักในตลาด แม้การแข่งขันจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถและสินเชื่อที่มีหลักประกันอื่น ๆ เช่น สินเชื่อที่ดินและสินเชื่อเช่าซื้อคิดเป็น 85% ของพอร์ทสินเชื่อของ MTC ณ สิ้นปี 2566 อย่างไรก็ตาม โครงสร้างธุรกิจของ MTC ยังถูกจำกัดจากการกระจายตัวของรายได้ที่ยังน้อยและยังมีความเสี่ยงที่รายได้ของบริษัทอาจมีความผันผวนจากฐานลูกค้าที่มีรายได้ต่ำและมีความอ่อนไหวต่อสภาพเศรษฐกิจ

การพิจารณาสินเชื่อจากมูลค่าหลักประกัน: MTC พิจารณาความเพียงพอของหลักประกันในการกำหนดจำนวนเงินให้สินเชื่อเพื่อช่วยลดความเสี่ยงด้านเครดิตจากกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง และแม้ว่า MTC จะมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคารถ แต่การมุ่งเน้นไปที่รถใช้แล้วจะช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราการเสื่อมราคาที่รวดเร็ว (cliff depreciation) สำหรับที่พบได้ในกรณีของรถใหม่ ทั้งนี้ MTC ยังมีระบบในการติดตามราคาและปริมาณรถยึดผ่านศูนย์ประมูลทั้งแปดแห่งของบริษัท ทำให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาอย่างรวดเร็ว หากมีความจำเป็น

คุณภาพของสินทรัพย์ปรับตัวด้อยลงแต่ยังน่าจะบริหารจัดการได้: อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมของ MTC ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากความท้าทายทางเศรษฐกิจมหภาคที่มีอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนสินเชื่อที่ด้อยคุณภาพปรับตัวลดลงเล็กน้อยเป็น 2.9% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 จาก 3.1% ณ สิ้นปี 2566 (สิ้นปี 2565: 1.1%) แต่ยังสูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิดที่ 1.0%-1.2% (ปี 2560-2563) ฟิทช์เชื่อว่าอัตราการผิดนัดชำระหนี้ของ MTC น่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องในอีกสองปีข้างหน้าเนื่องจากความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนที่ยังคงอ่อนแอ

นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงอัตราการเติบโตของสินเชื่อของ MTC ที่ค่อนข้างสูง (โดยมีอัตราการเติบโตแบบทบต้นต่อปีหรือ CAGR ที่ 26% ในช่วงปี 2563-2566) ซึ่งอาจมีผลทำให้อัตราส่วนทางการเงินด้านคุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวดีในระยะสั้น (inflating effect)

ความสามารถในการทำกำไรที่ยังอยู่ในระดับดี: อัตราส่วนกำไรก่อนหักภาษีต่อสินทรัพย์เฉลี่ยของบริษัทปรับลดลงต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาและอยู่ที่ 4.6% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 จาก 5.6% ในปี 2565 และ 9.3% ในปี 2563 เนื่องจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (credit cost) และค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวลดลง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่ลดลงและต้นทุนเงินกู้ที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ระดับอัตราส่วนกำไรก่อนหักภาษีต่อสินทรัพย์เฉลี่ยของบริษัทยังคงสามารถช่วยสนับสนุนอันดับเครดิตณ ระดับปัจจุบันได้ และฟิทช์เชื่อว่าความเสี่ยงที่ความสามารถในการทำกำไรจะปรับตัวด้อยลงอย่างมากในช่วงสองปีข้างหน้าน่าจะอยู่ในระดับที่จัดการได้ เนื่องจากแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายในการสำรองหนี้สูญและอัตราส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิน่าจะปรับลดลงเนื่องจากคุณภาพ สินทรัพย์และแรงกดดันจากการแข่งขันที่มีน่าจะปรับตัวขึ้นมามีเสถียรภาพมากขึ้น

ระดับหนี้สินที่ยอมรับได้: อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของทุนที่จับต้องได้ (debt/tangible equity) ของ MTC เพิ่มขึ้นเป็น 3.6 เท่า ณ สิ้นครึ่งปีแรกของปี 2567 (สิ้นปี 2565: 3.3 เท่า) เนื่องมาจากการสะสมกำไรที่ลดลงและการเติบโตของสินเชื่อที่ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทยังคงต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเกณฑ์มาตรฐานสำหรับคะแนนปัจจัยด้านระดับหนี้สินที่ bb ที่ 4.0-7.0 เท่า แม้ว่าจะบริษัทอาจจะมีฐานลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง และความหลากหลายของแหล่งรายได้ที่จำกัด รวมทั้งยังมีอ่อนไหวที่มากกว่าต่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด

การระดมทุนที่ปรับตัวดีขึ้นแต่มีการดำรงสภาพคล่องส่วนเกินที่ไม่มากนัก: โครงสร้างการระดมทุน (funding profile) ของ MTC มีความหลากหลายน้อยกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่มีอันดับเครดิตที่สูงกว่าที่ฟิทช์ทำการจัดอันดับ อีกทั้งบริษัทยังมีแนวโน้มที่จะมีความอ่อนไหวต่อความมั่นใจของนักลงทุนในตลาดทุนในประเทศ จากการพึ่งพิงการระดมทุนโดยการออกหุ้นกู้สกุลเงินบาท ซึ่งคิดเป็น 67% ของการระดมทุนทั้งหมด ณ สิ้นครึ่งปีแรกของปี 2567 ทั้งนี้ การดำรงสภาพคล่องส่วนเกินของบริษัท ซึ่งสะท้อนจากอัตราส่วนเงินสดและวงเงินสินเชื่อระยะยาวที่ยังไม่ได้เบิกถอนต่อเงินกู้ยืมระยะสั้น ซึ่งอยู่ที่ 0.04 เท่า ณ สิ้นครึ่งปีแรกของปี 2567 นั้นยังต่ำกว่าบริษัทอื่นในภูมิภาคที่ฟิทช์จัดอันดับอยู่ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวถูกลดทอนลงได้บ้างจากการขยายฐานผู้ให้กู้จากสถาบันการเงินต่างๆ ความสามารถในการเข้าถึงตลาดตราสารหนี้ที่ช่วงที่ผ่านมา การบริหารโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สิน และแผนบริหารการจัดหาเงินกู้ยืมใหม่เพื่อนำไปชำระหนี้เดิม (refinance) ของบริษัท

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน) อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว หากมีสัญญาณการปรับตัวด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญของการเข้าถึงแหล่งการระดมทุนของ MTC หรือโครงสร้างสภาพคล่องของบริษัทอาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิต

นอกจากนี้ หากมีความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น เช่น อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นใกล้ระดับ 5% พร้อมกับ อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของทุนที่จับต้องได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับที่มากกว่า 4 เท่าโดยไม่มีแนวทางในการปรับปรุงที่ชัดเจน อันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลกดดันต่ออันดับเครดิต

การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดได้จากการปรับตัวด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญของสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานภายในประเทศซึ่งบ่งชี้ได้จาก การปรับลดคะแนนปัจจัยด้านความเสี่ยงด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานของอุตสาหกรรม โดยอาจเกิดได้จากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีอย่างต่อเนื่องหรือสถานะการเงินของภาคครัวเรือนมีการปรับตัวอ่อนแอลงอย่างมาก เป็นต้น

อันดับเครดิตภายในประเทศ

การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ของ MTC อาจส่งผลให้อันดับเครดิตภายในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ฟิทช์จะพิจารณาเปรียบเทียบกับโครงสร้างเครดิตกับบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับจากฟิทช์ด้วยเช่นกัน

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน) อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศ การปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศอาจเกิดขึ้นได้หาก MTC มีการเติบโตได้ในขณะที่ยังสามารถรักษาให้คุณภาพสินทรัพย์อยู่ในระดับคงที่ได้ตลอดช่วงวัฏจักรธุรกิจ โดยมีเงื่อนไขว่า MTC จะมีการบริหารจัดการโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินอย่างอนุรักษ์นิยมมากขึ้น ซึ่งอาจสะท้อนได้จากอัตราส่วนการดำรงสภาพคล่องส่วนเกินที่แข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับหนี้สินระยะสั้นที่ไม่น้อยกว่า 0.25 เท่า

การปรับเพิ่มอันดับสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง เว้นแต่จะมีการปรับตัวดีขึ้นของคะแนนในหลายปัจจัยอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่อง

อันดับเครดิตตราสารหนี้และอันดับเครดิตอื่น: ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิตอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่คาดว่าจะให้ (expected rating) แก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ MTC ได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ของบริษัทที่ระดับ BB เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวนับเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีการค้ำประกันและของบริษัท

หุ้นกู้ที่จะเสนอขายดังกล่าวจะมีการจ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ทุกครึ่งปี และมีกำหนดการทยอยชำระเงินคืนในช่วงระหว่างสี่ปีและยังมีการกำหนดเงื่อนไขสัญญา (Covenant) ที่บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนทางเงิน ตัวอย่างเช่นอัตราส่วนทุนที่ปรับตามความเสี่ยง (Risk-Adjusted Capital Ratio) อย่างน้อย 15% และอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพสุทธิ (Net Stage III Asset Ratio) ไม่เกิน 7%

อันดับเครดิตตราสารหนี้และอันดับเครดิตอื่น: ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตอันดับเครดิตที่คาดว่าจะให้ (expected rating) แก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของบริษัท

การปรับคะแนนของปัจจัยในการพิจารณาโครงสร้างอันดับเครดิต อันดับคะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานได้รับการจัดอันดับให้อยู่สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนด้วยปัจจัยด้านอันดับเครดิตของประเทศ อันดับคะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านโครงสร้างธุรกิจได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าคะแนนตามเกณฑ์เนื่องจากการปรับลดคะแนนด้วยปัจจัยด้านรูปแบบธุรกิจ (business model) อันดับคะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านคุณภาพสินทรัพย์ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าคะแนนที่ตามเกณฑ์เนื่องจากการปรับลดคะแนนด้วยปัจจัยด้านการเติบโต (growth)

อันดับคะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านรายได้และความสามารถในการทำกำไรได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าคะแนนตามเกณฑ์เนื่องจากการปรับลดคะแนนด้วยปัจจัยด้านการกระจายรายได้ (revenue diversification) อันดับคะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านการระดมทุนและการก่อหนี้ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าคะแนนตามเกณฑ์เนื่องจากการปรับลดคะแนนด้วยปัจจัยด้านโครงสร้างความเสี่ยงและรูปแบบธุรกิจ (risk profile and business model)

MTC มีคะแนนความเกี่ยวข้องกับ ESG (ESG Relevance Score) ที่ระดับ 3 สำหรับสวัสดิการลูกค้าเมื่อเทียบกับคะแนนมาตรฐานที่ 2 สำหรับอุตสาหกรรมการเงินสะท้อนถึงการดำเนินงานที่มุ่งเน้นในกลุ่มลูกค้ารายย่อยของบริษัท ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการให้สินเชื่ออย่างยุติธรรม ความโปร่งใสในการกำหนดราคา การยึดทรัพย์ การขายและการเก็บหนี้ การปฏิบัติเชิงรุกในด้านเหล่านี้อาจทำให้บริษัทเผชิญกับความเสี่ยงทางกฎหมายหรือการกำกับดูแลและความเสี่ยงด้านชื่อเสียงที่อาจทำลายโครงสร้างอับดับเครดิตของบริษัท ทั้งนี้ คะแนน 3 สำหรับปัจจัยนี้สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่าความเสี่ยงเหล่านี้ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมและมีผลกระทบต่ำต่อโครงสร้างเครดิตของบริษัท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ย. 67)

Tags: ,
Back to Top