ผู้ว่าฯ ธปท. มองศก.ไทยโตแบบเดิมไม่ได้ หนุนสร้างท้องถิ่นเข้มแข็ง รับบริบทโลกเปลี่ยนแปลง

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สร้างไทยเข้มแข็งด้วยท้องถิ่นนิยม Localism Future of Thailand” ในงานสัมมนา “Big Heart Big Impact สร้างโอกาสคนตัวเล็ก..Power of Partnership จับมือไว้ไปด้วยกัน” โดยระบุว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น ประเทศไทยจะไม่สามารถเติบโตในรูปแบบเดิมได้แล้ว โดยต้องมองหาการเติบโตในรูปแบบใหม่

ทั้งนี้ สิ่งที่สะท้อนว่าประเทศไทย จะไม่สามารถเติบโตในแบบเดิมได้แล้ว ได้แก่

1.อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้สะท้อนความมั่งคั่งของครัวเรือนมากขึ้น แม้ว่าในการเติบโต Norminal GDP จะเติบโตจาก 100 เป็น 180 แต่เมื่อพิจารณาจากรายไดัครัวเรือนยังค่อนข้างห่างพอสมควร และมองไปข้างหน้า GDP มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งการเน้นเติบโตของ GDP แต่รายได้ครัวเรือนไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก

2.เห็นการกระจุกตัวสูงในภาคธุรกิจ ซึ่งจากข้อมูลสัดส่วนรายได้ธุรกิจ จะพบว่าธุรกิจรายใหญ่ ที่มีสัดส่วน 5% แต่กลับมีรายได้มากถึง 80-90% จากเดิมอยู่ที่ 84-85% ซึ่งเห็นการกระจุกตัวขึ้นมากขึ้น และหากดูธุรกิจตัวเล็ก หรือธุรกิจเกิดใหม่ที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี มีอัตราการปิดกิจการมากขึ้น สะท้อน Dynamic ในการขับเคลื่อนกระจุกตัว

3.โลกเปลี่ยนแปลงความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไทยจะพึ่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แบบเดิมไม่ได้ ซึ่งในปี 2544-2548 มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 0.57% สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย แต่ปัจจุบันสัดส่วนการลงทุน FDI ของไทยค่อนข้างทรงตัว (Flash) ในทางกลับกันเวียดนาม และอินโดนีเซียพุ่งสูงขึ้น สะท้อนว่าไทยจะนั่งเพื่อรอ FDI เข้ามาไม่ได้แล้ว เพราะไทยไม่ได้มีเสน่ห์เหมือนเดิม

“เราไม่ควรโตแบบล่าตัวเลข GDP หรือตัวเลข FDI เราต้องดูว่า GDP หรือ FDI สร้างประโยชน์ความเป็นอยู่ของประเทศแค่ไหน เพราะตัวเลขที่ต้องล่า คือ ความมั่งคั่ง รายได้ของครัวเรือน ที่สะท้อนความเป็นอยู่ของคน เช่น สาธารณสุข การศึกษา เพราะตัวเลขที่ผ่านมา ไม่ได้สะท้อนความเป็นอยู่ของคน ดังนั้น เราต้องพึ่งพาความเข้มแข็งจากภายในประเทศ” ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว

พร้อมระบุว่า การเติบโตรูปแบบใหม่ จะเป็นการเติบโตแบบยั่งยืน และมีฐานที่กว้าง ซึ่งเป็นการเติบโตแบบ More Local คือ 1.เน้นการเติบโตแบบท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันประชากร 80% อยู่นอกพื้นที่กทม./ปริมณฑล ซึ่งต้องสร้างความมั่งคั่งนอกพื้นที่ และ 2.ธุรกิจประมาณ 80% อยู่นอกพื้นที่ กทม./ปริมณฑล ซึ่งหากดูสัดส่วนประชากรเมืองหลวง และประชากรเมืองรอง ยังมีช่องว่างอีกมหาศาล และ 3.จากตัวเลข World Bank สะท้อนว่าการเติบโต GDP สูง แต่การเติบโตของประชากรเพียง 0.22% เท่านั้น

ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า การเติบโตแบบท้องถิ่น จะต้องโตแบบแข่งขันได้ และเป็นการแข่งขันกับโลกได้ ซึ่งไม่เพียงแค่แข่งขันระหว่างจังหวัดและจังหวัดเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่าย และมีความท้าทายหลายด้าน เช่น 1.ส่วนของความหนาแน่น และการกระจายตัวของคนท้องถิ่น ซึ่งมีผลต่ออุปสงค์ที่ไม่โต 2.ธุรกิจท้องถิ่นมีขนาดเล็ก 3.ภูมิรัฐศาสตร์หลากหลาย ทำให้เศรษฐกิจและการเติบโตไม่กว้างและไม่ยั่งยืน

“ใน 3 ความท้าทาย ทำให้โอกาสสร้าง Economy of Scale ยากมากขึ้นในท้องถิ่น เพราะหากต้องการแข่งขันได้ ต้นทุนจะต้องต่ำ ซึ่งต้นทุนจะต่ำได้ ต้องอาศัยขนาด และปริมาณที่มากพอ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

ดังนั้น หากท้องถิ่นจะก้าวข้ามความท้าทายได้ จะต้องมีองค์ประกอบ คือ 1.ความหนาแน่นของพื้นที่กทม./ปริมณฑลที่มีผลเชิงลบ ทำให้ GDP ชะลอลง 2.นโยบายเน้นกระจายความเจริญ แต่ต้องเป็นการกระจายความเจริญที่มีศักยภาพด้วย เช่น พยายามพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ แต่เป็นในโซนที่ไม่เหมาะสม ทำให้การดึงดูดการลงทุนไม่เหมาะสม ดังนั้น แม้นโยบายมีเจตนาที่ดี แต่ไม่ได้ดูศักยภาพ ซึ่งนโยบายแบบนี้ถือว่า “ไม่ใช่”

ส่วนคำตอบที่ “ใช่” คือ การสร้างท้องถิ่นสากลให้มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน จุดเด่นแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ทั้งทรัพยากร และประวัติศาสตร์ แต่จะต้องแข่งขันกับโลกได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ แต่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยวิธีการที่ทำให้ท้องถิ่นสากลได้ มี 5-6 องค์ประกอบ ได้แก่

1.เชื่อมกับตลาด โดยใช้กระแสออนไลน์ จะทำให้การเชื่อมกับตลาดได้ง่ายขึ้น

2.สร้างมูลค่าเพิ่มโดยการหาจุดเด่น และเอกลักษณ์

3.ร่วมมือกับพันธมิตร โดยตัวเล็กจับมือกับตัวใหญ่ เพื่อสร้างโอกาสที่เป็น Win-Win

4.ทำให้เมืองรองเติบโต ทำให้เกิดการเข้าถึงเมืองรอง สร้างการกระจุกตัวในเมืองใหม่ๆ

5.ให้ท้องถิ่นบริหารจัดการเองได้

6.สร้างระบบติดตาม เช่น การคำนวณความสามารถในการแข่งขันในแต่ละจังหวัด และแต่ละพื้นที่ โดยมีการสำรวจความเห็นนักลงทุนถึงกฎระเบียบการลงทุน และอุปสรรคมีอะไรบ้าง เพื่อพยายามให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งขณะนี้ ประเทศเวียดนามกำลังดำเนินการอยู่

“สุดท้ายรูปแบบการเติบโตเปลี่ยนไป ออกไปในเชิงท้องถิ่นสากลมากขึ้น สะท้อนความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็น Inclusive ทำให้การเติบโตยืดหยุ่นและทนทาน หรือ Resiliency จะเป็นการเติบโตแบบกว้างมากขึ้น โดยจะก่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างท้องถิ่น จะช่วยอัพนโยบายต่าง ๆ ทั้งความสามารถในการแข่งขัน ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ย. 67)

Tags: , , ,
Back to Top