นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC -CI) เดือน ส.ค.67 ซึ่งได้สำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 26-30 ส.ค.67 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 50.5 ลดลงจากระดับ 52.2 ในเดือนก.ค. 67 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และลดลงมาสู่ระดับที่ 50
โดยในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 47.7 นั้น อยู่ระดับต่ำกว่า 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แสดงให้เห็นว่าดัชนีฯ เริ่มเข้าสู่สถานการณ์ไม่ปกติ ภาคธุรกิจเอกชน มองเห็นการชะลอที่ชัดเจนของการบริโภค จากคำสั่งซื้อที่ลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น
“ผู้ประกอบการธุรกิจจากหลายภาค ได้ขอให้รัฐบาลออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน รวมทั้งต้องการให้ปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจให้มากขึ้น”
นายวชิร ระบุ
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้
– กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 50.0 ลดลงจากเดือนก.ค. ซึ่งอยู่ที่ 51.6
– ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 50.2 ลดลงจากเดือนก.ค. ซึ่งอยู่ที่ 51.8
– ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 53.2 ลดลงจากเดือนก.ค. ซึ่งอยู่ที่ 55.0
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 49.2 ลดลงจากเดือนก.ค. ซึ่งอยู่ที่ 51.1
– ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 50.7 ลดลงจากเดือนก.ค. ซึ่งอยู่ที่ 52.7
– ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 49.6 ลดลงจากเดือนก.ค. ซึ่งอยู่ที่ 51.5
ปัจจัยลบ ได้แก่
1. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5:4 ให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงยุบพรรคก้าวไกล
2. กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวตามที่ประเมินไว้
3. กังวลเสถียรภาพการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอน และนโยบายด้านเศรษฐกิจของภาครัฐที่ยังไม่มีความชัดเจน
4. สภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้บางพื้นที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตร
5. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ยังคงอยู่
6. เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น
ปัจจัยบวก ได้แก่
1. การเมืองในประเทศเริ่มเห็นความชัดเจนจากการแต่งตั้ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
2. สภาพัฒน์ เผย GDP ไตรมาส 2/67 โต 2.3% เร่งขึ้นจากไตรมาส 1
3. ภาครัฐออกมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด ช่วง 1 พ.ค.-30 พ.ย.67
4. นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศมากขึ้น
5. ราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกร
6. การส่งออกเดือน ก.ค. ขยายตัวถึง 15.23%
7. ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ ปรับตัวลดลง
สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการแก้ไขปัญหา
– การบริหารจัดการน้ำ วางแผนระยะยาว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ป้องกันเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำซาก
– เร่งดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มกำลังซื้อประชาชน
– ส่งเสริมสินค้าไทย ที่มีความสามารถในการแข่งขันกับตลาดโลกได้
– ควบคุมต้นทุนราคาที่เป็นปัจจัยการผลิต เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ
– ควบคุมตลาดสินค้าออนไลน์ และปริมาณสินค้าจากจีนที่เข้ามามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
– รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ย. 67)
Tags: ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย, วชิร คูณทวีเทพ, เศรษฐกิจไทย