บล.ยูโอบีฯ ระบุในบทวิเคราะห์กรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะพิจารณาผู้ได้รับการคัดเลือกผู้ประกอบการธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาในไทย 3 รายในเดือนมิ.ย.68 คาดว่า 3 กลุ่มพันธมิตรที่จะได้รับคัดเลือก ได้แก่ 1. กลุ่ม SCB 2.กลุ่ม GULF และ 3. กลุ่ม CP Group
เนื่องบจากทั้ง 3 กลุ่มมีความเชี่ยวชาญและมีพันธมิตรที่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาในต่างประเทศมาแล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์กับการทำธุรกิจในประเทศไทยได้ ขณะที่ 2 กลุ่มแรกมีธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เป็นแกนหนัก ทำให้มีความได้เปรียบและมีโอกาสมากกว่าที่จะได้รับการคัดเลือก
สำหรับกลุ่มแรก นำโดย บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) ร่วมมือกับ คาเคาแบงก์ (KakaoBank) จากเกาหลีใต้ และ วีแบงก์ (WeBank) จากจีน ทั้ง 3 บริษัทตั้งใจจะยื่นสมัครเป็นกลุ่มพันธมิตรเดียวกัน โดย KakaoBank เป็นดิจิทัลแบงก์ใหญ่สุดในเกาหลี ด้วยจำนวนผู้ใช้งาน 22.8 ล้านคน และมาร์เก็ตแคประดับ 2.43 แสนล้านบาท ขณะที่ WeBank เป็นฟินเทคภายใต้เทนเซ็นต์ กรุ๊ป (Tencent Group) ของจีน โดย WeBank มีจำนวนผู้ใช้งาน 365 ล้านคน มาร์เก็ตแคประดับ 7.48 แสนล้านบาท ขณะที่ SCB เป็นแบงก์ใหญ่ของไทยที่มีการลงทุนด้านดิจิทัลอย่างมากและมีฐานผู้ใช้งานโมบายล์แบงก์กิ้ง 16 ล้านคน กลุ่มนี้จะใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญในดิจิทัลแบงก์จาก KakaoBank และ WeBank ที่มีจำนวนผู้ใช้งานจำนวนมากเพื่อมาปรับใช้กับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา
กลุ่มสอง นำโดย บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ซึ่งประกาศความร่วมมือกับ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และธนาคารกรุงไทย (KTB) ล่าสุด GULF ให้ ADVANC เป็นแกนเข้าจับมือกับพันธมิตร ซึ่ง GULF ถือหุ้นใน ADVANC อยู่ 40% จึงยังได้ประโยชน์จากการเป็นพันธมิตรผ่าน ADVANC ที่มีจำนวนผู้ใช้งานโทรมือถือและอินเตอร์เน็ตบ้านรวม 49.3 ล้านคน ขณะที่ OR เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกน้ำมันรายใหญ่สุด มีสมาชิกบลูการ์ด (Blue) 7.9 ล้านคน ส่วนKTB เป็นแบงก์รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ให้บริการแอปพลิเคชันเป๋าตั้งและถุงเงินจำนวนผู้ใช้รวม 59 ล้านคน กลุ่มพันธมิตรนี้มีโอกาสได้รับใบอนุญาต เนื่องจาก GULF ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลไปแล้ว และยังให้ความสำคัญกับธุรกิจดิจิทัล ขณะที่ KTB เป็นแบงก์ใหญ่ที่มีเครือข่ายลูกค้าทั่วประเทศ รวมถึงในต่างจังหวัดมีฐานผู้ใช้ที่แข็งแกร่งจากหลายนโยบายและมาตรการของภาครัฐ
กลุ่มที่สาม นำโดย เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) ประกาศความร่วมมือกับ แอนท์ กรุ๊ป (Ant Group) ซึ่งเป็นผู้นำในฟินเทค และเป็นบริษัทลูกของอาลีบาบา (Albaba) จากจีน มีจำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 1.3 พันล้านคน มาร์เก็ตแคปขนาด 2.81 ล้านล้านบาท โดย CP Group ส่งทรูมันนี่ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ ร่วมทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา โดย ทรูมันนี่ มีฐานผู้ใช้ 27 ล้านคนทั่วประเทศ มีการใช้จ่ายผ่านสาขาเซเว่นอีเลฟเว่นกว่า 14,500 สาขา และ โลตัส ซูเปอร์มาร์เก็ต กว่า 2,400 สาขา เราเห็นมาแล้วว่าแอปฯ อาลีเพย์ (Alipay) ให้บริการมากกว่า 1 พันล้านคนในจีน มารถอนุมัติสินเชื่อและให้กู้ยืมแก่เกษตรกรที่อยู่ห่างไกลโดยใช้ดาวเทียม เชื่อว่า Ant Group จะนำนวัตกรรมในดิจิทัลแบงก์มาปรับใช้กับธุรกิจ Virtual Bank ซึ่งทำให้กลุ่มพันธมิตรนี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับใบอนุญาต
ขณะที่กลุ่มที่ 4 นำโดย บมจ.เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลอิงส์ (JMART) จะส่งบริษัทลูกคือ บริษัท เจ เวนเจอร์ส (J-Venture) ร่วมมือกับ เคบี ไฟแนนเชียล (KB Finanial) จากเกาหลีใต้ เพื่อทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา โดย J-Venture มีฐานผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ขณะที่ KB Fnancial เป็นกลุ่มการเงินที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ด้วยจำนวนผู้ใช้งาน 27 ล้านคน และมาร์เก็ตแคป 819 ล้านบาท ซึ่งข่าวล่าสุด JMART กำลังมองหาพันธมิตรเพิ่มเติม โดยเรามองว่ากลุ่มนี้มีโอกาสน้อยที่จะได้รับการคัดเลือกทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา
กลุ่มที่ 5 นำโดย บมจ.วีจีไอ (VGI) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลติ้งส์ (BTS) ประกาศจะเข้าร่วมทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา โดย VGI เพิ่มทุนเพื่อรองรับไว้แล้ว 7.5 พันล้านบาท ซึ่ง VGI จะเข้าถือหุ้นไม่เกิน 25% โดยนำประสบการณ์ในการให้บริการบัตรแรบบิท (Rabbit Card) เติมเงินบัตรโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส นอกจากนี้ VGI ยังระบุว่ากำลังเจรจากับพันธมิตรรายอื่น รวมถึงธนาคารพาณิชย์ ตลาดคาดว่า VGI จะร่วมมือกับ BBL และ ซีกรุ๊ป (Sea Group) จากสิงคโปร์ ถึงแม้ว่า BBL จะยังไม่ได้ยืนยันการเข้าร่วมเป็นพันธมิตร แต่ทางผู้บริหารธนาคารได้ให้ข้อมูลว่าธนาคารกำลังมองหาโอกาสในธุรกิจดิจิทัลแบงก์ จากข่าวก่อนหน้านี้ Sea Group จากสิงคโปร์จะส่งช็อปปี้ (Shopee) เพื่อเข้าร่วมทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา
อย่างไรก็ตาม การร่วมเป็นพันธมิตรของกลุ่มนี้ยังคงต้องรอการยืนยันอีกครั้ง โดย VGI จะเป็นผู้เล่นหลักในกลุ่มพันธมิตรนี้ เนื่องจากมีการให้ข่าวกับสื่อ แต่เราคิดว่ากลุ่มนี้จะมีโอกาสน้อยที่จะได้รับการคัดเลือกทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา
ผู้บริหารธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ให้ข้อมูลว่าไม่สนใจทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา โดยมองว่าจะไม่ได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วม และได้ปฏิเสธข่าวการเข้าร่วมพันธมิตรกับ CP Group เป็นที่เรียบร้อย ขณะที่ ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ทางผู้บริหารมองจะได้ประโยชน์บางส่วนจากการเข้าร่วม แต่ TTB จะไม่เข้าร่วม เพราะพัฒนาและให้บริการดิจิทัลแบงก์แก่ลูกค้าตัวเองอยู่แล้ว โดยจะให้ความสำคัญกับดิจิทัลแบงก์ของตัวเอง
ส่วน บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) จะไม่เข้าร่วมทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา เพราะทางธนาคารไม่ได้มีความสนใจและจะยังเน้นการปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกันเป็นหลัก
ดังนั้น ปัจจุบันมีผู้สนใจสมัครเพื่อขอใบอนุญาต 5 กลุ่ม โดย ธปท.จะเปิดรับสมัครในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ และจะประกาศผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 3 ราย ในเดือนมิ.ย.68 และสุดท้ายจะมีการออกใบอนุญาตและเริ่มดำเนินการได้ในเดือนมิ.ย.69
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ย. 67)
Tags: Virtual bank, ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา, หุ้นไทย