ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ส.ค. ดิ่งต่อเนื่องครึ่งปี นโยบายกระตุ้นศก.ไม่ชัดเจน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค.67 อยู่ที่ 56.6 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และต่ำสุดในรอบ 13 เดือน นับตั้งแต่เดือน ส.ค.66

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 50.2 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 53.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 65.6 โดยดัชนีฯ ทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลง เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทย ที่ยังคงชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า เพราะยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนของรัฐบาลใหม่ ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น และผู้บริโภคยังคงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลาง และสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้ออาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ดี คาดว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ หากรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทในปลายปีนี้ ซึ่งน่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 67 ขยายตัวได้ 2.6-2.8% แต่หากไม่มีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียง 2.4-2.6%

ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยบวกต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนส.ค. ได้แก่ การเมืองในประเทศเริ่มมีความชัดเจน หลังจากได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร, จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพิ่มมากขึ้น, สภาพัฒน์ เผย GDP ไตรมาส 2/67 ขยายตัว 2.3% ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า คาดทั้งปี GDP โต 2.3-2.8%, ราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น, ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง, รัฐบาลออกมาตรการภาษีเพื่อการตุ้นท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด และเงินบาทปรับตัวแข็งค่า สะท้อนการไหลเข้าสุทธิของเงินทุนต่างประเทศ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ส.ค. แม้จะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ แทนนายเศรษฐา ทวีสิน แล้ว นั่นคือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แต่ความเชื่อมั่นของประชาชนก็ยังไม่ได้ดีขึ้น โดยดัชนีฯ ยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และต่ำสุดในรอบ 13 เดือน นอกจากนี้ สัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจของไทยก็ยังไม่โดดเด่นเท่าที่ควร

พร้อมมองว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย. มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากประชาชนมีความหวังเรื่องการรับเงิน 10,000 บาท ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะแจกเป็นเงินสดให้กับกลุ่มเปราะบาง 14-15 ล้านคนก่อนในกลุ่มแรก ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง ก็จะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงปลายปีได้ ส่วนจะมีผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนก.ย.ปรับสูงขึ้นได้แค่ไหนนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม แต่อย่างน้อย มั่นใจว่าดัชนีฯ นี้ จะเป็นดัชนีแรก ๆ ที่สามารถสะท้อนให้เห็นบรรยากาศทางเศรษฐกิจจริงของประเทศได้

“ดัชนีฯ เดือนหน้า (ก.ย.) มีความท้าทายจากดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งกลุ่มเปราะบาง 14-15 ล้านคน มีความหวังว่าจะได้รับเงินสดเป็นกลุ่มแรกก่อน หากเกิดขึ้นจริง ก็จะมีเงินสะพัดทั่วประเทศ เม็ดเงิน 140,000 ล้านบาท จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจ หากมีการนำออกมาใช้ก่อนสัก 20-30% ก็อาจจะมีเงินสะพัดราว 3-5 หมื่นล้านบาทได้เป็นอย่างน้อย”

นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ อาจมีจุดเปราะบางจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ, การจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 2 ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นในรูปของเงินสด หรือเงินดิจิทัล ตลอดจนผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ รวมทั้งต้องติดตามสถานการณ์ท่องเที่ยว การส่งออก และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงปลายปีนี้ด้วยเช่น

พร้อมชี้ว่า การจะให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ โตแตะระดับ 3% ได้นั้น จะต้องทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง โตได้ถึง 4% ขณะที่ครึ่งปีแรก เศรษฐกิจโตแล้ว 1.9% ซึ่งหากจะพิจารณาปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังได่ มีเพียงเรื่องเดียวคือ ดิจิทัลวอลเล็ต ในขณะที่การส่งออกก็ไม่ได้เติบโตอย่างโดดเด่นมาก ประกอบกับมีเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเข้ามา ซึ่งรัฐบาลคงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ที่จะดำเนินตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก

ดังนั้นการที่เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง จะโตได้ถึง 4% และทำให้ทั้งปีเฉลี่ยโตได้ 3% จึงอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ขณะที่ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้ 3.5%

“สัญญาณทั้งหมด จะถูกชี้ในไตรมาส 4 เราคิดว่าดิจิทัลวอลเล็ต จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตเพิ่มขึ้นเป็น 2.8% ได้ จากเดิมที่มองไว้ 2.5% ส่วนจะโตได้ถึง 3% หรือไม่นั้น ก็มีโอกาส แต่คงไม่ง่ายนัก”

นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับการประเมินผลกระทบสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ ก่อนหน้านี้ ม.หอการค้าไทย คาดไว้ที่ 6,000-8,000 ล้านบาทนั้น ล่าสุดที่มีเหตุการณ์น้ำท่วมหนักใน จ.เชียงราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ทำให้คาดว่าความเสียหายอาจเพิ่มขึ้นเป็นระดับหมื่นล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ ได้รวมผลกระทบที่เกิดจากการเสียโอกาสในด้านการท่องเที่ยวไว้แล้ว แต่ทั้งนี้ ไม่มีผลกระทบมากนักกับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในประเทศในปีนี้ เนื่องจากจะมีส่วนทดแทนจากเม็ดเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจอีกประมาณ 1.4-1.5 แสนล้านบาท แต่สิ่งที่จะกระทบจริง ๆ คือ การจับจ่ายใช้สอย และการท่องเที่ยวในพื้นที่ประสบน้ำท่วม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ย. 67)

Tags: , ,
Back to Top