เงินประกันสังคม เป็นอีกแหล่งที่ใช้รองรับในวัยเกษียณ เมื่อเราเข้าเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม จะถูกหักเงิน 5% ของฐานเงินเดือนที่กำหนดสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท หรือคิดเป็น 750 บาทต่อเดือน ในส่วนนี้แบ่งออกเป็นการคุ้มครอง 3 ส่วนคือ ส่วนแรก 3% เป็นเงินชราภาพ, 1.5% สำหรับกรณีเจ็บป่วย และ 0.5% สำหรับกรณีว่างงาน ซึ่งในส่วนเจ็บป่วยและว่างงานเป็นเหมือนจ่ายเบี้ยแล้วทิ้ง ถ้าไม่ได้ใช้ก็ไม่ได้คืน
แต่ในส่วนเงินชราภาพนั้น ถือว่าเป็นเงินออมก้อนใหญ่ หลายคนอาจจะไม่เช้าใจ หรือเข้าใจผิดเกี่ยวกับสิทธิส่วนนี้ ยังสับสนว่าจะเลือกรับแบบบำเหน็จ หรือ บำนาญ อันไหนจะคุ้มค่ากว่า
วันนี้ “Wealth Me Please” มาพูดคุยกับนายสาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน ,CFP และวิทยากรของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับสิทธิประกันสังคม ในส่วนเงินชราภาพที่เราถูกหักเข้ากองทุนประกันสังคม 3% ของฐานเงินเดือนที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด หรือเท่ากับ 450 บาท/เดือน
เมื่อนับอายุสมาชิกตั้งแต่แรกเข้า หรือเริ่มจ่ายเงินสมทบ หากมีอายุการเป็นสมาชิกน้อยกว่า 180 เดือน หรือ 15 ปี โดยปัดเศษเดือนทิ้ง จะได้สิทธิรับบำเหน็จ หรือรับเงินก้อนใหญ่ครั้งเดียว
แต่หากมีอายุการเป็นสมาชิกมากกว่า 180 เดือน สำนักงานฯ จะให้เงินบำนาญ ซึ่งจ่ายให้เป็นงวดๆ หรือจ่ายรายเดือนไปตลอดจนกว่าจะเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม คนที่เกษียณและรับเงินบำนาญไม่ถึง 5 ปีแล้วเสียชีวิต ทางสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินส่วนที่เหลือที่จนครบ 5 ปีแก่ทายาทของผู้เอาประกันซึ่งจะให้เงินทั้งก้อน ก็ทำให้เราไม่เสียสิทธิ
สำหรับจำนวนเงินที่ได้รับบำนาญแต่ละเดือน หากเป็นสมาชิก ม.33 สำนักงานฯ จะจ่ายให้ 20% ของฐานรายได้ 5 ปีสุดท้ายที่กำหนดไว้สูงสุด 15,000 บาท/เดือน ดังนั้น หากทำงานและส่งเงินเข้ามาแล้ว 15 ปี หรือ 180 เดือนพอดี จะได้รับ 3,000 บาท/เดือน
ส่วนผู้ที่ส่งเงินสมทบเข้ามาเกิน 15 ปี ให้คิดส่วนที่เกินปีละ 1.5% สมมติเราทำงานและส่งเงินมา 20 ปี เท่ากับเราได้รับส่วนแรกแล้ว 3,000 บาท/เดือน และส่วนที่ 2 คำนวณอายุที่เกินมา 5 ปีคูณ 1.5% เท่ากับ 7.5% รวมกัน 20% + 7.5% เป็น 27.5% โดยคำนวณรับเงินบำนาญ 15,000 คูณ 27.5% เท่ากับ 4,125 บาท/เดือน
แต่หากเป็นสมาชิก ม.39 ทางสำนักงานจะให้ 20% ของฐานค่าจ้าง 4,800 บาท/เดือน เท่ากับจะได้รับ 960 บาท/เดือน ซึ่งน้อยกว่า ม.33 ถึง 2 ใน 3
ฉะนั้น หากต้องการที่จะได้รับเหมือน ม.33 นายสาธิต แนะนำว่าควรขึ้นทะเบียนเป็นลูกจ้าง หรือ ม.33 อาจจะให้บุคลลธรรมดาเป็นนายจ้างได้ เพื่อจะได้สิทธิรับบำนาญแบบ ม.33 ที่ได้สูงกว่า ม.39
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.ย. 67)
Tags: SCOOP, WealthMePlease, กองทุนประกันสังคม, บำนาญ, ประกันสังคม, เกษียณ