สำหรับนักเทรดคริปโทฯ รุ่นแรก ๆ ไม่มีใครไม่รู้จัก Mt. Gox ที่โดนแฮ็กเอาบิทคอยน์ออกไป จนตอนนี้ถึงแม้จะมีการทยอยคืนเหรียญแก่นักลงทุน แต่ว่าก็ยังไม่ครบอยู่แล้ว แล้วถ้าผู้บริหารของ Mt. Gox เตรียมที่จะเปิดเว็บเทรดใหม่ ใครจะกล้าใช้บ้าง!?
![](https://www.infoquest.co.th/wp-content/uploads/2024/09/AF787A2E259FC945D0FB4F1FAAD43646.png)
เขากลับมาแล้ว!!! อดีต CEO Mt. Gox เตรียมเปิดเว็บเทรดใหม่ หลังทยอยใช้หนี้เว็บเดิมเกือบหมด
ไม่รู้ว่าเป็นข่าวดีหรือข่าวร้าย เวลาเราพูดถึง Mt.Gox ก็เชื่อว่าหลายคนคงมีอารมณ์หวานอมขมกลืน อยู่เหมือนกัน แถม อดีต CEO ของ Mt. Gox คุณ Mark Karpeles ได้มีการกล่าวว่ากำลังจะเตรียมเปิดเว็บเทรดใหม่ ที่ชื่อ EllipX อีกด้วย
แล้ว EllipX ต่างจากเว็บเทรดอื่น ๆ อย่างไร คุณ Mark บอกว่า เขาตั้งเป้าที่ความโปร่งใส และความเป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน แถมเขาจะให้มีการตรวจสอบโดย Third-party audits ได้ด้วย
ฟังแล้วรู้สึกยังไงบ้างกับ CEO เว็บเทรดที่เคยถูกแฮ็ก ทุกวันนี้ยังทยอยใช้หนี้นักลงทุนไม่หมด กำลังจะเปิดเว็บเทรดใหม่อีกครั้ง ถ้าเป็นคุณ จะกล้าใช้เว็บเทรดนี้รึเปล่า?
ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์ใหม่ หรือคนไทยจะใช้คริปโทฯ ชำระค่าสินค้าได้!?
อย่างที่รู้กันว่า ก.ล.ต. เคยมีการประกาศออกมาชัดเจนว่าห้ามนำ Digital Asset มาใช้เป็น Mean of Payment (MOP) แต่ล่าสุดมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เมื่อ ก.ล.ต. ได้มีประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ และหลักเกณฑ์รองรับโครงการ Sandbox ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้ครอบคลุมผู้ประกอบสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภทในปัจจุบัน และปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. สามารถเข้าทดสอบภายใต้โครงการ Programmable Payment Sandbox เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินดิจิทัล โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2567
เนื้อหาใจความสำคัญแบ่งออกเป็น 3 ข้อ ข้อแรก ก.ล.ต. ปรับปรุง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้บริการ ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องไม่มีลักษณะเป็น MOP เพื่อขยายขอบเขตให้ครอบคลุมผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล นั่นก็คือ (Digital Asset Custodial Wallet Provider) ซึ่งเป็นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใหม่
ข้อ 2 ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. ให้เข้าร่วมการทดสอบในโครงการ Programmable Payment Sandbox สามารถให้บริการหรือกระทำการอันมีลักษณะเป็น MOP ภายใต้การทดสอบดังกล่าวได้
และข้อ 3 ก.ล.ต. ปรับปรุงบัญชีรายชื่อคริปโทเคอร์เรนซีที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ซึ่งผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถรับเป็นการตอบแทนหรือในการทำธุรกรรม เพื่อรองรับการดำเนินการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในโครงการ Programmable Payment Sandbox
ดูทรงแล้วทางแบงก์ชาติเองก็เริ่มผ่อนปรนเกี่ยวกับการกำหนดขอบเขตของ MOP บางทีประเทศไทยเรา อาจมีโอกาสใช้คริปโทฯ ในการชำระเงินก็ได้
ชาวญี่ปุ่นมีเฮ!! รัฐบาลลดภาษีคริปโทฯ ลงจาก 55% เหลือแค่ 20%
นับเป็นข่าวดีเมื่อล่าสุดทางประเทศญี่ปุ่น ได้มีการปรับเปลี่ยนการจัดประเภทสินทรัพย์ โดยมีการย้ายคริปโทเคอร์เรนซี จากเดิมที่ถูกจัดประเภทอยู่ในหมวดหมู่ “รายได้อื่น ๆ” มาอยู่ในประเภท “สินทรัพย์ทางการเงิน” ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ทำให้ภาษีที่จะถูกจัดเก็บ ถูกปรับลดลงจาก 55% มาอยู่ที่ 20% เท่ากับผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ
นโยบายนี้ของประเทศญี่ปุ่น นับว่าเป็นกระตุ้นให้คนในประเทศมีการลงทุนมากขึ้น แถมยังช่วยผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซีด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ย. 67)
Tags: Crypto, Cryptocurrency, CryptoShot, SCOOP, สินทรัพย์ดิจิทัล