นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVIT) แนะรัฐบาลเร่งปรับเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพิ่มเติม ที่จะสร้างแรงจูงใจให้เกิดการย้ายฐานการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น โดยอาศัยช่วงจังหวะเวลาที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเตรียมทำสงครามทางการค้ากับจีน เนื่องจากจะเป็นทางออกที่ทำให้ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของจีน ยังสามารถรักษาความเป็นผู้นำตลาดไว้ได้
พร้อมกันนี้ ต้องส่งเสริมให้เกิดการร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนการผลิต หากรัฐบาลไม่เร่งดำเนินการอาจส่งผลให้ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทั้ง 7 รายที่ลงทุนไปแล้ว ตัดสินใจถอนการลงทุนได้ เพราะผลิตแล้วไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน
“วันนี้มีแต่โรงงานผลิตรถ ซัพพลายเชนยังไม่มา ผู้ผลิตที่ลงทุนไปแล้วทั้ง 7 ราย มีแผนส่งออกไปยุโรป และสหรัฐฯ ถ้าผลิตแล้วส่งออกไปไม่ได้ ก็คงถอนการลงทุน เพราะไม่คุ้ม เขาไม่ได้หวังที่จะผลิตขายเฉพาะอาเซียน” นายสุโรจน์ แสงสนิท นายกสมาคม EVIT กล่าว
นายกสมาคม EVIT กล่าวว่า เตรียมเสนอบอร์ดอีวี ให้พิจารณาขยายเวลาส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้าออกไปอีก 1-2 ปี เพื่อให้เกิดความพร้อมที่จะเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อส่งออก โดยผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทยทั้ง 7 ราย จะมีกำลังการผลิตได้ปีละเกือบ 5 แสนคันในปี 68
“เราเตรียมข้อมูลไว้เสนอบอร์ดอีวีเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้รอช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม” นายสุโรจน์ กล่าว
สำหรับสถานการณ์ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในปี 67 คาดว่าจะมียอดขายราว 8 หมื่นคัน น้อยกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 1 แสนคัน เนื่องจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และมีปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนสูง จนส่งผลให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องสวนทางกับภาพรวมยอดขายรถยนต์ในประเทศที่หดตัวลดลง
ส่วนกรณีที่ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าบางรายใช้มาตรการลดราคานั้น เชื่อว่าจะเกิดผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น เช่น อาจต้องการเคลียร์สต็อกเก่า หลังจากนั้นสถานการณ์ก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ย. 67)
Tags: ยานยนต์ไฟฟ้า, รถยนต์ไฟฟ้า, ส่งออก, สุโรจน์ แสงสนิท