คริสตอฟ ฟูเกต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเอเอสเอ็มแอล (ASML) ผู้ผลิตอุปกรณ์ผลิตชิปรายใหญ่ของเนเธอร์แลนด์ ตั้งข้อสังเกตว่า การที่สหรัฐฯ ผลักดันให้จำกัดการส่งออกสินค้าของ ASML ไปยังจีนโดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงนั้น แท้จริงแล้วมีแรงจูงใจแอบแฝงทางเศรษฐกิจมากกว่าที่เห็น
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในการกล่าวสุนทรพจน์ที่งานประชุมในนิวยอร์กเมื่อวานนี้ (4 ก.ย.) ฟูเกต์คาดการณ์ว่ากระแสต่อต้านมาตรการควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมระบุว่า ความก้าวหน้าของจีนในอุตสาหกรรมชิปกำลังชะลอตัวลงอันเนื่องมาจากมาตรการควบคุมที่บังคับใช้ไปแล้ว
“ผมคิดว่าการอ้างว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องความมั่นคงของชาติอย่างเดียวนั้น ยิ่งนานวันก็ยิ่งฟังไม่ขึ้น” ฟูเกต์กล่าว “มีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีแรงกดดันให้เพิ่มมาตรการควบคุมมากขึ้น แต่ผมก็เชื่อว่าจะมีแรงต้านมากขึ้นเช่นกัน ผมหวังว่าเราจะหาจุดสมดุลได้ เพราะสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการคือความชัดเจนและเสถียรภาพ”
เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (30 ส.ค.) นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์กล่าวว่าจะพิจารณาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของ ASML อย่างรอบคอบ หลังจากที่สหรัฐฯ และเนเธอร์แลนด์ร่วมกันออกมาตรการควบคุมการส่งออกหลายระลอกในปี 2565 และ 2566
นับตั้งแต่เดือนเม.ย. รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามกดดันให้ ASML ยุติการให้บริการซ่อมบำรุงอุปกรณ์บางประเภทที่ขายให้กับลูกค้าจีนก่อนปี 2567 ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้มาตรการควบคุม
นอกจากนี้ ฟูเกต์ยังย้ำถึงการคาดการณ์ทางการเงินของ ASML สำหรับปี 2567 และ 2568 โดยระบุว่าแม้ตลาดชิปจะฟื้นตัวอย่างไม่สม่ำเสมอ แต่ความต้องการชิป AI ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญมาโดยตลอด
ทั้งนี้ ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของ ASML คือบริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง คอมพานี (TSMC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปให้กับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างอินวิเดีย (Nvidia) และแอปเปิ้ล (Apple)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ย. 67)
Tags: จีน, ส่งออกชิป, สหรัฐ