เงินเฟ้อตุรกีลดลงแตะ 51.97% ในเดือนส.ค. หลังราคาอาหารชะลอตัว

สำนักงานสถิติตุรกีรายงานในวันนี้ (3 ก.ย.) ว่า อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภค (CPI) ของตุรกีในเดือนส.ค. 2567 ลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยอยู่ที่ 51.97% เมื่อเทียบรายปี ลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนพ.ค. เนื่องจากฐานราคาที่อยู่ในระดับสูงและราคาอาหารปรับตัวขึ้นน้อย

เมื่อเทียบรายเดือน CPI ในเดือนส.ค.อยู่ที่ 2.47% ซึ่งก็ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เช่นกัน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับขึ้นราคาแก๊ส

สำหรับในเดือนก.ค. อัตราเงินเฟ้อเทียบรายเดือนอยู่ที่ 3.23% และอัตราเงินเฟ้อเทียบรายปีอยู่ที่ 61.78%

สินค้าและบริการที่ผลักดันให้เงินเฟ้อรายปียังคงอยู่ในระดับสูง ได้แก่ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งทะยานขึ้นถึง 121% และราคาที่อยู่อาศัยพุ่งขึ้น 101% อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งมีน้ำหนักมากในการคำนวณเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นเพียง 45% ช่วยลดทอนแรงกดดันเงินเฟ้อโดยรวม

ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์จากสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อรายปีในเดือนส.ค.จะลดลงมาอยู่ที่ 52.2% และอัตราเงินเฟ้อรายเดือนจะอยู่ที่ 2.64% นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อรายปีจะลดลงมาอยู่ที่ 42.95% ภายในสิ้นปี 2567

ด้านราคาแก๊สสำหรับใช้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น 38% ในเดือนส.ค. ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี

ทั้งนี้ ธนาคารกลางตุรกีขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วถึง 41.50% นับตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 50% และธนาคารกลางยังคงยืนยันที่จะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไปหากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นักวิเคราะห์หลายรายจึงคาดว่าธนาคารกลางอาจเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนพ.ย.หรือธ.ค.นี้

ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา เงินลีราอ่อนค่าลงเกือบ 3% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ธนาคารกลางจึงได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนถือเงินลีรามากขึ้น ด้วยการปรับเปลี่ยนอัตราส่วนเงินสำรองที่ธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงไว้

นอกจากนี้ สำนักงานสถิติตุรกียังรายงานว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตในประเทศ (PPI) เดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 1.68% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 35.75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ย. 67)

Tags: ,
Back to Top