UN จัดการเจรจาที่กรุงตริโปลี หวังแก้ไขวิกฤตธนาคารกลางลิเบีย

องค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายของลิเบียเมื่อวานนี้ (2 ก.ย.) โดยพยายามแก้ไขวิกฤตการณ์ที่ธนาคารกลางลิเบีย (CBL) ซึ่งก่อให้เกิดการปิดกั้นการผลิตและการส่งออกน้ำมันจากลิเบียซึ่งเป็นประเทศสมาชิกของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปก (OPEC)

ฝ่ายบริหารของลิเบียฝั่งตะวันออกและตะวันตกเผชิญหน้ากันอย่างหนักเรื่องการบริหารธนาคารกลางลิเบีย ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดูแลรายได้ด้านพลังงานหลายพันล้านดอลลาร์ โดยฝ่ายบริหารลิเบียฝั่งตะวันออกสั่งระงับการจ่ายน้ำมันของประเทศ หลังจากรัฐบาลลิเบียที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติซึ่งตั้งอยู่ในกรุงตริโปลีนั้นได้เปลี่ยนตัว ซาดิก อัล-คาบีร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางลิเบียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

แถลงการณ์ระบุว่า คณะผู้แทนสนับสนุนแห่งสหประชาชาติในลิเบีย (UNSMIL) ระบุว่า การเจรจาดังกล่าวที่กรุงตริโปลี ส่งผลให้เกิด “ความเข้าใจที่สำคัญ” เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาธนาคารกลาง และสร้างความเชื่อมั่นในสถาบันดังกล่าวขึ้นมาใหม่ โดยรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายตกลงที่จะทบทวนร่างข้อตกลงและตั้งเป้าที่จะสรุปให้เสร็จสิ้นภายในวันนี้ (3 ก.ย.)

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ลิเบียผลิตน้ำมันได้วันละประมาณ 1 ล้านบาร์เรลก่อนคำสั่งหยุดการผลิตเมื่อวันที่ 26 ส.ค. โดยส่วนใหญ่มาจากทางตะวันออก โดยปริมาณการผลิตน้ำมันลดลงเหลือประมาณ 450,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ลิเบียมีแหล่งสำรองน้ำมันที่พิสูจน์แล้วมากที่สุดในแอฟริกา แต่ปริมาณการผลิตมักถูกควบคุมโดยคู่แข่งทางการเมือง นับตั้งแต่การโค่นล้มผู้นำเผด็จการ มูอัมมาร์ กัดดาฟี ในปี 2554

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ย. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top