นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการป้องกันและปราบปรามธุรกิจขายสินค้าจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ หลังจากได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีข้อเสนอทั้งหมด 5 มาตรการ และ 63 แผนปฏิบัติการ ดังนี้
- มาตรการที่ 1 ให้หน่วยงานรัฐบังคับใช้ระเบียบและกฎหมายอย่างเข้มข้น โดยเพิ่มการตรวจเข้มสินค้า ณ ด่านศุลกากร รวมถึงเพิ่มอัตราการเปิดตู้สินค้า เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานของไทย และเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบผู้ประกอบการ หรือผู้ให้บริการให้ปฏิบัติตามกฏหมายไทย
- มาตรการที่ 2 ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าในอนาคต โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล และมีสำนักงานในไทย เพื่อให้ภาครัฐสามารถกำกับดูแลได้อย่างใกล้ชิด
- มาตรการที่ 3 ด้านภาษี โดยปรับปรุงประมวลกฎหมายรัษฎากร สำหรับผู้ขายสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ และแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่จำหน่ายสินค้าในไทย จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร พร้อมจัดอบรมให้ความรู้กับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการยื่นคำขอและไต่สวน ในการใช้มาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด หลบเลี่ยงการตอบโต้การทุ่มตลาด และการอุดหนุนมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้สามารถร้องเรียนได้
- มาตรการที่ 4 การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ของไทย โดยใช้เทคโนโลยีเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ในการผลิต เพื่อขยายการส่งออกสินค้าไทยผ่านอีคอมเมิร์ซ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ในยุคการค้าโลกใหม่
- มาตรการที่ 5 การสร้างหรือต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจ เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับและติดตามการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ละเมิดลิขสิทธิ์ ตลอดจนการดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายของของผู้ประกอบการต่างประเทศในไทย ส่วนการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจนั้น จะต้องรอการอนุมัติจาก ครม.ชุดใหม่
นายศึกษิษฏ์ กล่าวอีกว่า ครม. ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานเร่งตรวจสอบผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซต่างประเทศให้เข้ามาจดทะเบียนนิติบุคคลในประเทศไทย
“เมื่อเรามีประกาศที่ชัดเจนแล้ว ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซต่างประเทศ ต้องมาจดทะเบียนนิติบุคคล และมีสำนักงานในประเทศไทย เพื่อให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้ และสามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังเร่งปรับปรุงประมวลรัษฎากร เพื่อกำหนดให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์ หรือแพลตฟอร์มจากต่างประเทศที่จำหน่ายสินค้าออนไลน์ในไทย ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เรากำลังเร่งดำเนินการอยู่” นายศึกษิษฎ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี หากพบว่าผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซต่างประเทศไม่เข้ามาจดทะเบียนนิติบุคคลในไทย ก็อาจะต้องมีมาตรการตอบโต้ ซึ่งรัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มดังกล่าวได้ ส่วน กสทช.จะดูแลในเรื่องการเข้าถึงสื่อ
“เชื่อว่าหลายงานจะช่วยกันดูแล ฉะนั้นเมื่อเรามีเงื่อนไขชัดเจน ทุกแพลตฟอร์มก็ต้องเข้ามาจดทะเบียนในไทย” รองเลขาธิการนายกฯ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ย. 67)
Tags: ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี, ศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ, สินค้าต่างประเทศ