ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ศูนย์สนับสนุนพันธกิจ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยแพร่บทความทางเว็บไซต์ Center for Medical Genomics เรื่อง “เตรียมพร้อมรับมือโอมิครอน XEC: สายพันธุ์ที่อาจเปลี่ยนโฉมหน้าการระบาด” ระบุว่า
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ย่อยใหม่ ที่เรียกว่า “โอมิครอน XEC” ที่เพิ่งปรากฏขึ้น และได้รับความสนใจจากแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก รวมถึงในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ซึ่งถูกตรวจพบครั้งแรกในเยอรมนี และแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของยุโรปตะวันตก รวมถึงเนเธอร์แลนด์ แม้จะปรากฏในสหรัฐอเมริกา แต่ความชุกยังต่ำ และไม่ได้ถูกติดตามแยกเป็นการจำเพาะ โดยกรมควบคุมโรคสหรัฐ (US CDC)
ลักษณะเฉพาะของโอมิครอน XEC เป็นลูกผสมของสายพันธุ์ย่อย 2 สายพันธุ์ที่แตกต่างกัน คือ โอมิครอน KS.1.1 และโอมิครอน KP.3.3 แต่มีข้อได้เปรียบในการเติบโตเหนือกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ เช่น โอมิครอน JN.1, โอมิครอน FLiRT และโอมิครอน deFLuQE ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กำลังจับตาดูโอมิครอน XEC อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจมีศักยภาพในการแซงหน้าสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน KP.3.1.1 ที่กำลังระบาดเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐขณะนี้
ดร.อีริค โทโพล ผู้อำนวยการสถาบัน Scripps Research Translational สังเกตว่าโอมิครอน XEC เพิ่งเริ่มปรากฏขึ้นตอนนี้ทั่วโลกและที่สหรัฐ แต่ยังไม่พบในไทย อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ถึง 2 เดือน ก่อนที่โอมิครอน XEC จะเริ่มมีอิทธิพลอย่างแท้จริง และอาจก่อให้เกิดการระบาดเป็นระลอก
ขณะที่ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดใหม่ ที่ออกมาสำหรับฤดูกาล 2567-2568 อาจไม่สอดคล้องกับโอมิครอน XEC มากนัก เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน เช่น โอมิครอน JN.1, KP.2, KP.3 อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าวัคซีนจะยังคงให้การป้องกันในระดับหนึ่ง เนื่องจากมีลักษณะที่ทับซ้อนกับสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนที่ระบาดมาก่อนหน้านี้
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและนักวิทยาศาสตร์ กำลังติดตามการแพร่กระจายและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นของโอมิครอน XEC อย่างใกล้ชิด แม้ว่าจะเร็วเกินไปที่จะกำหนดความสำคัญทั้งหมดของมัน แต่โอมิครอน XEC ถือเป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจ ซึ่งอาจเป็นสายพันธุ์ขับเคลื่อนการระบาดของโควิดในช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วง หรือฤดูหนาว
สิ่งสำคัญที่ต้องทราบ คือ การปรากฏขึ้นของสายพันธุ์ใหม่เหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการตามปกติของไวรัส แม้ว่าโอมิครอน XEC จะได้รับความสนใจ แต่ผลกระทบสุดท้ายต่อการแพร่เชื้อ และความรุนแรงของโควิด-19 ยังคงต้องรอดูข้อมูลทางคลินิกต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ย. 67)
Tags: มหาวิทยาลัยมหิดล, ฤดูหนาว, ศูนย์จีโนมทางการแพทย์, ศูนย์สนับสนุนพันธกิจ, โควิดสายพันธุ์ใหม่, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โอมิครอน, โอมิครอน XEC