พนักงานราว 10,000 คนจากโรงแรม 24 แห่งในสหรัฐฯ เริ่มต้นหยุดงานประท้วงเมื่อวันอาทิตย์ (1 ก.ย.) และคาดว่าจะดำเนินต่อไปเป็นเวลาหลายวันและในหลายเมือง หลังการเจรจาสัญญาจ้างงานกับกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม อาทิ แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล (Marriott International) ฮิลตัน เวิลด์ไวด์ (Hilton Worldwide) และไฮแอท โฮเทลส์ (Hyatt Hotels) ไม่คืบหน้า
ยูไนต์เฮียร์ (Unite Here) สหภาพแรงงานซึ่งเป็นตัวแทนพนักงานโรงแรม กาสิโน และสนามบินทั่วสหรัฐฯ และแคนาดา เปิดเผยว่า การผละงานประท้วงเริ่มต้นขึ้นแล้วในเมืองท่องเที่ยวหลัก ๆ เช่น ซานฟรานซิสโกและซานดิเอโกในรัฐแคลิฟอร์เนีย โฮโนลูลู เมืองหลวงของรัฐฮาวาย บอสตันในรัฐแมสซาชูเซตส์ ซีแอตเทิลในรัฐวอชิงตัน และเมืองกรีนิช รัฐคอนเนตทิคัต นอกจากนี้พนักงานโรงแรมในเมืองอื่น ๆ เช่น บัลติมอร์ นิวเฮเวน โอ๊กแลนด์ และโพรวิเดนซ์ ก็เตรียมที่จะร่วมผละงานเช่นกัน
การผละงานดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงวันหยุดยาวสุดสัปดาห์เนื่องในวันแรงงานของสหรัฐฯ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 2 ก.ย. และเป็นช่วงที่การเดินทางภายในประเทศเพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตามข้อมูลจากสมาคมยานยนต์อเมริกัน (AAA)
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า พนักงานและผู้ประกอบการโรงแรมพยายามเจรจาเพื่อตกลงกันเรื่องค่าจ้างและการยกเลิกการลดจำนวนพนักงานที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาด อย่างไรก็ดี การเจรจาดังกล่าวยังไม่ประสบความสำเร็จ
สหภาพระบุว่า พนักงานโรงแรมมีงานล้นมือ โดยฝ่ายบริหารมักมอบหมายให้พนักงาน 3 คนทำงานเท่ากับพนักงาน 4 คน ทำให้เกิดความเครียด ทั้งยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพในการให้บริการด้วย
ในเมืองบัลติมอร์ บรรดาพนักงานทำความสะอาดโรงแรมกำลังเรียกร้องขอปรับขึ้นค่าแรงจาก 16.20 ดอลลาร์ เป็น 20 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ส่วนในเมืองบอสตัน พนักงานทำความสะอาดได้รับค่าจ้าง 28 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ซึ่งทางยูไนต์เฮียร์ต้องการให้ปรับขึ้นค่าจ้างเพิ่มอีก 10 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงในช่วง 4 ปีข้างหน้า
ด้านไมเคิล ดันเจโล หัวหน้าฝ่ายแรงงานสัมพันธ์ของเครือโรงแรมไฮแอท ระบุในแถลงการณ์ว่า ไฮแอทมีแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อลดผลกระทบของการหยุดงานประท้วงที่อาจส่งผลต่อการดำเนินงานของโรงแรม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ย. 67)
Tags: ค่าแรง, ประท้วง, สหรัฐ, แรงงาน