ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ และกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) คาด เงินบาทอาจกลับมาอ่อนค่าในปีนี้ หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดอัตราดอกเบี้ยไม่ถึง 1% ในปี 2567 มองนโยบาย “โดนัล ทรัมป์” หนุนให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) ระบุว่า หลังจากที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินปัจจัยพื้นฐาน จากเกือบ 37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือนมิ.ย. มาอยู่ที่ประมาณ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ นั้น คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ ค่าเงินบาทจะพลิกกลับมาอ่อนค่าได้ โดยมีเป้าหมายสิ้นปีอยู่ที่ประมาณ 34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 2 ปัจจัย คือ
1. ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยไม่มากถึง 1% ตามที่ตลาดคาดหวัง
2. หากนายโดนัล ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดี จะมีนโยบายที่เอื้อให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า
ดังนั้น นักลงทุนจะต้องติดตามปัจจัยเหล่านี้อย่างใกล้ชิด ทั้งการประชุม Fed ครั้งต่อไปในวันที่ 18 ก.ย. และการดีเบตของผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 10 ก.ย.นี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยชี้ชะตาต่อค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี 2567
“ตลาดซื้อขายล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ชี้ว่านักลงทุนคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยลงรวม 1% ในการประชุม Fed ที่เหลือเพียง 3 ครั้งในปีนี้ แสดงให้เห็นว่า ตลาดคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยมากเป็นพิเศษ หรือลดดอกเบี้ยประมาณ 50bps ในการประชุมครั้งใดครั้งหนึ่งในปีนี้ ซึ่ง TISCO ESU มองว่ามีโอกาสน้อยที่จะเป็นไปตามตลาดคาด เพราะการลดดอกเบี้ยมากกว่า 25bps ต่อครั้งนั้น มักจะเกิดขึ้นเฉพาะในตอนที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวอย่างชัดเจน แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง ดังนั้น Fed จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยมากเป็นพิเศษในเร็วๆ นี้” บทวิเคราะห์ ระบุ
ทั้งนี้ หาก Fed ลดดอกเบี้ย 25bps ในการประชุมเดือนก.ย.67 และส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปในการประชุมครั้งถัดไป ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจพลิกกลับมาแข็งค่า และกดดันให้ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าได้ในระยะสั้น
นายคมศร กล่าวด้วยว่า ยังมีอีกปัจจัยที่จะกำหนดทิศทางของค่าเงินในช่วง 2-3 เดือนนี้ ได้แก่ แนวโน้มการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยเฉพาะคะแนนนิยมของทรัมป์ เนื่องจากนโยบายหลักในการหาเสียงของทรัมป์นั้น มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า ได้แก่
1. นโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนถึง 60% และจากประเทศอื่นๆ 10% ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น และส่งผลให้ Fed ลดดอกเบี้ยน้อยลง ในขณะที่การนำเข้าสินค้าที่ลดลง จะทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อีกเช่นกัน
2. นโยบายการเนรเทศแรงงานต่างด้าวผิดกฏหมายออกนอกประเทศ ซึ่งจะทำให้จำนวนแรงงานลดลง ธุรกิจจำต้องขึ้นค่าแรงเพื่อดึงดูดแรงงานในประเทศ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิต และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นตามลำดับ
3. นโยบายการลดภาษีนิติบุคคล และภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐฯ ขาดดุลการคลังมากขึ้น และจำเป็นต้องกู้เงินโดยการออกพันธบัตรมากขึ้น อุปทานพันธบัตรที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้บอนด์ยิลด์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ส.ค. 67)
Tags: TISCO ESU, คมศร ประกอบผล, ค่าเงินบาท, เงินบาท