สำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่น เปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นว่า มีชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่คนเดียวเสียชีวิตตามลำพังในบ้านรวม 37,227 รายในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567
ในจำนวนนี้ 28,330 รายเป็นผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไปที่อาศัยอยู่ตามลำพัง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 76% ของทั้งหมด
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จำนวนผู้ที่เสียชีวิตเพียงลำพังในบ้าน ซึ่งเรียกกันว่า “การตายอย่างโดดเดี่ยว” มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่คนเดียวมากขึ้น และประชากรสูงวัยก็เพิ่มมากขึ้น
เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุ จำนวนผู้เสียชีวิตตามลำพังสูงสุดอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 85 ปีขึ้นไป โดยมีจำนวน 7,498 ราย ขณะที่ต่ำสุดอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี โดยมีจำนวน 473 ราย
ข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยในวันพุธ (28 ส.ค.) ตอกย้ำแนวโน้มที่ว่า ยิ่งกลุ่มอายุมากเท่าใด อัตราการเสียชีวิตตามลำพังก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น
เมื่อจำแนกตามเพศ พบว่าผู้เสียชีวิตตามลำพังเป็นชายประมาณ 25,600 ราย และหญิง 11,600 ราย
ปรากฏการณ์การเสียชีวิตตามลำพังเกิดขึ้นมากในเขตเมืองใหญ่ เช่น โตเกียว รวมถึงจังหวัดคานากาวะ ชิบะ ไซตามะ และโอซากา โดยโตเกียวมีผู้เสียชีวิตตามลำพังสูงสุดที่ 4,786 ราย
หนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุนของญี่ปุ่นระบุว่า จำนวนผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่คนเดียวที่เพิ่มมากขึ้น พลวัตทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ความท้าทายด้านการครองชีพ และปัญหาการฆ่าตัวตายที่เพิ่มมากขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้การเสียชีวิตตามลำพังเพิ่มมากขึ้น
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายส่งเสริมนโยบายแก้ปัญหาความโดดเดี่ยวและการแยกตัวจากสังคมเมื่อเดือนเม.ย. โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาวิกฤตความโดดเดี่ยวที่มีแนวโน้มย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ส.ค. 67)
Tags: ชาวญี่ปุ่น, ญี่ปุ่น