“สมาร์ททีทีซี” ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 100 ล้านหุ้นเข้า mai ใช้เป็นทุน-คืนหนี้-ขยายธุรกิจ

บมจ.สมาร์ททีทีซี (STTC) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 100,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมี บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

บริษัทมีวัตถุประสงค์ในการนำเงินจากการกระดมทุนครั้งนี้ไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน, ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และรองรับการขยายธุรกิจ

STTC ก่อตั้งโดยครอบครัว “เทพตระการพร” ปัจจุบันดำเนินธุรกิจเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายมิเตอร์ไฟฟ้า รวมทั้งให้บริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การจำหน่ายพร้อมติดตั้ง การบริการด้านข้อมูลการใช้ไฟฟ้า เป็นต้น โดยสินค้าหลัก ได้แก่ มิเตอร์ไฟฟาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Meter) และมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Meter) กลุ่มลูกค้าหลัก ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แบ่งประเภทการดำเนินธุรกิจออกเป็น 2 รูปแบบ คือ 1) งานจำหน่ายมิเตอร์ไฟฟ้า (Spare meters) และ 2) งานบริการอื่นๆ เช่น งานจำหน่ายพร้อมติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า (Sell and installation)

บริษัทมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบรายได้ จากเดิมที่เป็นเพียงรายได้จากการขายมิเตอร์ไฟฟ้า เปลี่ยนเป็นรายได้จากการให้บริการด้านการบริหารพลังงานไฟฟ้า เช่น การจัดเก็บข้อมูลการใช้ไฟฟ้าภายในอาคาร หรือภายในนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งการใช้ E-Meter หรือ Smart Meter จะช่วยให้ตัวเลขปริมาณการใช้ไฟฟ้ามีความถูกต้องมากขึ้น และลดการใช้กำลังคนในการทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ และจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงลูกค้าน้อยราย ความเสี่ยงจากความไม่สม่ำเสมอของรายได้ และนำมาซึ่งรายได้และกำไรของบริษัทในอนาคต

ผลประกอบการปี 64-66 บริษัทฯรายได้จากการขายและบริการรวมเท่ากับ 75.33 ล้านบาท 328.86 ล้านบาท และ 847.64 ล้านบาท ตามลำดับ งวด 6 เดือนแรกของปี 67 รายได้จากการขายและบริการรวมเท่ากับ 540.69 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 344.39 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 175.44% เมื่อเทียบกับงวด 6 เดือนแรกของปี 66
ขณะที่ปี 64-66 บริษัทมีกำไร (ขาดทุน) สุทธิเท่ากับ (19.53) ล้านบาท 66.80 ล้านบาท และ 57.09 ล้านบาท ตามลำดับ สำหรับ งวด 6 เดือนแรกปี 67 กำไรสุทธิ 43.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.93 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 112.01% จากงวดเดียวกันในปี 66

ณ วันที่ 30 มิ.ย.67 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 863.82 ล้านบาท หนี้สินรวม 712.59 ล้านบาท และ ส่วนผู้ถือหุ้น 151.23 ล้านบาท
ปัจจุบัน บริษัทมีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท เป็นทุนเรียกชำระแล้ว 150 ล้านบาท โครงสร้างผู้ถือหุ้นมี นางพรทิพย์ เทพตระการพร ถือหุ้น 102,500,000 หุ้น คิดเป็น 34.17% หลัง IPO จะลดสัดส่วนเหลือ 25.62% นางสาวพิมพ์นรินทร์ ศิลปรักษ์ 45,000,000 หุ้น คิดเป็น 15% จะลดเหลือ 11.25% นางสาว นุชนรินทร์ ศิลปรักษ์ 45,000,000 หุ้น คิดเป็น 15% จะลดเหลือ 11.25% นางสาวเนตรนรินทร์ ศิลปรักษ์ 45,000,000 หุ้น คิดเป็น 15% จะลดเหลือ 11.25% และ บริษัท เทร ซอเรลลา โฮลดิง จำกัด 62,500,000 หุ้น คิดเป็น 20.83% จะลดเหลือ 15.62%

ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในแต่ละปีในอัตราไม่น้อยกว่า 30% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการหลังจากหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและหักทุนสำรองต่าง ๆ ทุกประเภทที่กฎหมายและบริษัทฯ กำหนดไว้ในแต่ละปี
นางพรทิพย์ เทพตระการพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร STTC เปิดเผยว่า บริษัทมีความพร้อมในการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับการจำหน่ายมิเตอร์ไฟฟ้า และในปี 66 บริษัทฯ ได้ชนะการประกวดราคาในโครงการจัดซื้อมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อทดแทนมิเตอร์แบบจานหมุนทั่วประเทศของ กฟภ. โดยบริษัทฯ รับผิดชอบการจำหน่ายมิเตอร์และติดตั้งเพื่อส่งมอบงานแก่ กฟภ. ซึ่งโครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการในปี 66 เป็นปีแรก และคาดว่าจะเปิดประกวดราคาเป็นรายปีต่อเนื่องจนแล้วเสร็จภายในปี 73 เพื่อดำเนินการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

ผลิตภัณฑ์มิเตอร์ไฟฟ้าของบริษัทคือ Electronic Meter มีคุณสมบัติในการแสดงผลค่าพลังงานแบบดิจิทัลบนหน้าจอ LCD จุดเด่นคือระบบป้องกันการละเมิดการใช้ไฟฟ้า และมีความแม่นยำในการอ่านค่า ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการอ่านค่าจากระยะไกลด้วยสัญญาณบลูทูธผ่านอุปกรณ์อ่านค่า นอกจากนี้ยังสามารถเก็บบันทึกข้อมูลพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า เช่น ข้อมูลแรงดันไฟฟ้า ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลา และข้อมูลอัตราการบริโภคไฟฟ้าสูงสุดแต่ละช่วงเวลา

และ Smart Meter ที่บริษัทฯ วิจัยและพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 และแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย (ปี 58-79) มีจุดเด่นคือสามารถเก็บข้อมูลต่างๆ ได้มากขึ้น ควบคู่กับการนำระบบสัญญาณสื่อสารมาพัฒนาให้สามารถรับ-ส่งข้อมูลระยะไกลแบบเรียลไทม์ เช่น ข้อมูลการใช้ไฟฟ้า ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดต่อวัน ข้อมูลช่วงเวลาการใช้ไฟฟ้าสูงสุด แจ้งเตือนไฟฟ้าตก เป็นต้น ทำให้ผู้จำหน่ายไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปจดหน่วยการใช้ไฟฟ้า โดยมีโรงงานอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นสายพานการผลิตมิเตอร์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์แบบ 1 เฟส 800,000 เครื่องต่อปี

“เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนามิเตอร์ไฟฟ้าของไทยสู่การเป็นมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ พร้อมทั้งต่อยอดนวัตกรรมในอนาคต เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชน ให้สามารถวางแผนการผลิตและจัดส่งพลังงานไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น สามารถนำข้อมูลที่แสดงผลไปวิเคราะห์และวางแผนการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน และให้ธุรกิจก้าวไปได้ไกลมากขึ้น” นางพรทิพย์กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ส.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top