รัฐบาลมาเลเซียกำลังพิจารณานำมาตรการภาษีการบริโภคแบบครอบคลุมกลับมาใช้อีกครั้ง โดยจะนำมาใช้แทนวิธีการตัดการอุดหนุนน้ำมันเบนซินที่ใช้กันทั่วไป เนื่องจากรัฐบาลต้องการเสริมสร้างความความแข็งแกร่งทางการเงิน
แหล่งข่าวเปิดเผยกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า คณะรัฐมนตรีมาเลเซียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ได้หารือกันถึงความเป็นไปได้ในการนำมาตรการภาษีสินค้าและบริการ (GST) กลับมาใช้ อย่างไรก็ดี คณะรัฐมนตรียังไม่มีการตัดสินใจในเรื่องนี้ เนื่องจากมองว่าเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง
แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า รัฐบาลมาเลเซียมีมุมมองว่าในแง่การเมืองนั้น การเก็บภาษี GST อาจง่ายกว่าเมื่อเทียบกับการยกเลิกเงินอุดหนุนสำหรับน้ำมันเบนซิน RON95 ซึ่งเป็นนโยบายที่นิยมใช้ เนื่องจากมาเลเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมัน และชาวมาเลเซียส่วนใหญ่มองว่าน้ำมันราคาถูกเป็นสิ่งจำเป็น
อย่างไรก็ตาม การนำมาตรการภาษีการบริโภคมาใช้ถือเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองสำหรับรัฐบาลมาเลเซีย โดยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีที่อยู่ในระดับต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ การผ่านกฎหมายเพื่อนำมาตรการภาษี GST กลับมาใช้จะเป็นไปได้ง่ายขึ้นหากได้รับเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ในรัฐสภาซึ่งอันวาร์ควบคุมผ่านทางพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็มีแนวโน้มว่าสมาชิกรัฐสภาฝ่ายรัฐบาลจะคัดค้านมาตรการนี้
นายกรัฐมนตรีอันวาร์จำเป็นต้องระมัดระวังในการนำมาตรการภาษี GST กลับมาใช้ โดยมาตรการดังกล่าวถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดยอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ในปี 2558 ที่อัตรา 6% และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เขาพ่ายแพ้การเลือกตั้ง 3 ปีหลังจากนั้น ส่วนรัฐบาลชุดถัดมาซึ่งนำโดยมหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้ยกเลิกภาษี GST โดยรัฐมนตรีคลังในรัฐบาลของมหาเธร์กล่าวว่าภาษีนี้ถูกใช้เพื่อปกปิดคดีทุจริต 1MDB มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ส.ค. 67)
Tags: ภาษี, มาเลเซีย, เศรษฐกิจมาเลเซีย