กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (JMA) รายงานว่า ไต้ฝุ่น “ซานซาน” พายุหมุนเขตร้อนกำลังแรง พัดขึ้นฝั่งที่เกาะคิวชูทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นแล้วในวันนี้ (29 ส.ค.) ทำให้เกิดฝนตกหนักและลมกระโชกแรง อาจสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนได้
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า JMA ได้ประกาศเตือนภัยไต้ฝุ่นระดับพิเศษครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดคาโกชิมะ โดยเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเฝ้าระวังภัยธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ขณะที่ผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะได้ประกาศยกเลิกการเดินรถไฟและเที่ยวบิน โดยพายุลูกนี้กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือ
ด้านบริษัท JR คิวชู ซึ่งได้ประกาศระงับการเดินรถไฟหัวกระสุนชินคันเซ็นบางส่วนไปแล้วเมื่อคืนที่ผ่านมา (28 ส.ค.) ระบุว่าจะระงับการเดินรถไฟความเร็วสูงและรถไฟอื่น ๆ ทั่วเกาะภายในบ่ายวันนี้ ขณะที่สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ส และออลนิปปอนแอร์เวย์ส ได้ยกเลิกเที่ยวบินจำนวนมากทั้งขาเข้าและขาออกจากสนามบินในภูมิภาค
นอกจากนี้ รถไฟหัวกระสุนบางขบวนในเส้นทางจากฮากาตะ ทางตอนเหนือของคิวชู ไปยังฮิโรชิมา ทางตะวันตกของญี่ปุ่น จะถูกระงับการเดินรถในเย็นวันนี้เช่นกัน ตามรายงานของบริษัท JR เวสต์
ทั้งนี้ ไต้ฝุ่นซานซานขึ้นฝั่งใกล้เมืองซัตสึมะเซ็นได ในจังหวัดคาโกชิมะ ประมาณ 8.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ขณะเคลื่อนตัวไปทางเหนือด้วยความเร็ว 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีความเร็วลมสูงสุด 216 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และความกดอากาศที่จุดศูนย์กลาง 955 เฮกโตพาสคัล
ข้อมูล ณ วันพุธที่ผ่านมา มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากไต้ฝุ่นอย่างน้อย 9 ราย ตามรายงานของทางการจังหวัดคาโกชิมะและจังหวัดมิยาซากิที่อยู่ใกล้เคียง
ในภาคกลางของญี่ปุ่น การเดินรถไฟหัวกระสุนในเส้นทางโทไคโด ชินคันเซ็น ระหว่างชิซูโอกะและคาเคกาวะ ถูกระงับเมื่อคืนที่ผ่านมาเนื่องจากฝนตกหนัก ส่วนในจังหวัดไอจิที่อยู่ใกล้เคียง สำนักงานเมืองกามาโกริยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิต 3 รายและบาดเจ็บ 2 ราย จากเหตุการณ์ดินถล่มทับบ้านเรือน
ขณะเดียวกัน โตโยต้า มอเตอร์ และผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อื่น ๆ ระบุว่า บริษัทฯ จะระงับการดำเนินงานในโรงงานบางแห่งในวันนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากไต้ฝุ่น
ทั้งนี้ JMA เตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เตรียมพร้อมรับมือกับลมแรง รวมถึงระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นและคลื่นสูง โดยขอให้ประชาชนเตรียมพร้อมอพยพออกจากพื้นที่ก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายลง
JMA พยากรณ์อากาศว่าจะมีปริมาณฝนมากถึง 600 มิลลิเมตร ภายใน 24 ชั่วโมง ในบางพื้นที่ของคิวชู การเคลื่อนตัวที่ช้าของพายุอาจเพิ่มความอันตราย เนื่องจากลมแรงและฝนตกหนักอาจปกคลุมพื้นที่เป็นเวลานาน
สำหรับการประกาศเตือนภัยไต้ฝุ่นระดับพิเศษจะเกิดขึ้นในกรณีที่พายุมีความรุนแรงเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่ไต้ฝุ่นนันมาดอล (Nanmadol) เข้าใกล้ญี่ปุ่นในปี 2565 ซึ่งในครั้งนั้นมีการประกาศเตือนภัยพิเศษในจังหวัดคาโกชิมะ นับเป็นครั้งแรกของประเทศที่มีการประกาศเตือนภัยในระดับนี้ในพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่โอกินาวา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ส.ค. 67)
Tags: ญี่ปุ่น, พายุไต้ฝุ่น, เกาะคิวชู