ประธาน ตลท.เปิด 3 แกนหลักพัฒนาตลาดทุนไทย ฟื้นเชื่อมั่น-เพิ่มขีดความสามารถ-ส่งเสริมความยั่งยืน

ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และความท้าทายรอบด้าน ขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ภูมิรัฐศาสตร์ และความต้องการของผู้ลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป ความสามารถในการการปรับตัวจึงไม่ใช่เพียงความได้เปรียบแต่เป็นความจำเป็น

ตลาดทุนไทยได้พิสูจน์ความสามารถในการยืดหยุ่นท่ามกลางพายุระบบการเงินโลก ความไม่แน่นอนทางการเมือง และภาวะโรคระบาดในช่วงที่ผ่านมา โดยได้วางบทบาทของตลาดทุนไทยในการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม และการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยยุทธศาสตร์ 3 หลัก ได้แก่ ความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่น การเพิ่มขีดความสามารถของตลาดทุนไทย และการส่งเสริมความยั่งยืน เพื่อมุ่งหน้าสู่การเป็นตลาดทุนสำหรับทุกคนเพื่อมุ่งสู่อนาคต

โดยด้านความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่น การกำกับดูแลและธรรมาภิบาลเป็นหัวใจสำคัญสำหรับความไว้วางใจและความเชื่อมั่น เวลาและประสิทธิภาพเป็นกุญแจสำหรับความไว้วางใจ การเดินหน้าส่งเสริมความเชื่อมั่นและไว้วางใจผ่านการกระชับความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อทำให้เกิดการบังคับใช้อย่างทันเวลา เสริมสร้างกรอบกฎหมาย การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และ AI เช่น การใช้ AI ในการตรวจสอบความผิดปกติของคำสั่งซื้อขายหรือกิจกรรมที่ไม่ปกติ การเพิ่มความโปร่งใสของข้อมูล โดยล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ฯได้เปิดเผยข้อมูล Program Trading และ Short Selling รวมทั้งส่งเสริมระบบนิเวศตลาดทุนให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ทั้งผู้ลงทุนรายย่อย และผู้ลงทุนสถาบันจากทั้งในและต่างประเทศ

การเพิ่มขีดความสามารถของตลาดทุนไทย ตลาดทุนโลกที่มีความเชื่อมต่อกันไร้ขอบเขต การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยให้เป็นที่สนใจสำหรับผู้ลงทุนในและต่างประเทศ การส่งเสริมการใช้ตลาดทุนในภาคที่มีการเติบโตสูง โดยสนับสนุนอุตสาหกรรมอนาคตให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ขณะที่มีบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในธุรกิจดิจิทัล คอมเมิร์ซ การแพทย์สมัยใหม่ การเกษตร และเทคโนโลยีอาหาร เป็นต้น การส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมและความร่วมมือระดับโลก โดยสนับสนุนให้บริษัทขนาดใหญ่เข้าลงทุนและในธุรกิจสตาร์ทอัพให้เติบโตเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ mai และ SET รวมถึงการอัปเกรดโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี เช่น การพัฒนาระบบซื้อขายหลักทรัพย์โดยร่วมมือกับ Nasdaq เพื่อให้สามารถรองรับมูลค่าซื้อขายจำนวนมากเป็นไปตามมาตรฐานสากล และรองรับผลิตภัณฑ์ลงทุนจากทั่วโลกอย่างไร้รอยต่อ

การส่งเสริมความยั่งยืน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับบริษัทจดทะเบียน โดยจะเห็นได้จากปี 66 มีบริษัทจดทะเบียนรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวน 445 บริษัท หรือ 50% ของบริษัททั้งหมด ขณะที่มีการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดลง 6.1% รวมถึงการส่งเสริมบรรษัทภิบาล ผู้ถือหุ้น สอดคล้องกับกองทุน TESG ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดการลงทุนผ่านแรงจูงใจทางภาษีสำหรับการลงทุนในบริษัทที่มี ESG ระดับสูง

ขณะที่ยังมีการฟื้นคืนกองทุนวายุภักษ์ที่ให้ผลตอบแทนน่าสนใจ ขณะที่ยังสามารถสนับสนุนการพัฒนาตลาดหุ้นไทย ตลาดหลักทรัพย์ฯยังได้เสนอเครื่องมือที่ดีขึ้นสำหรับให้ผู้ลงทุนประเมินบริษัทจดทะเบียนได้ และยังร่วมมือกับ FTSE RUSSELL เข้าประเมิน ESG บริษัทจดทะเบียนไทย รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ESG ใหม่ และการสนับสนุนธุรกิจครอบครัว ทั้งนี้ 67% ของบริษัทจดทะเบียนเป็นธุรกิจครอบครัว

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนาโครงการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจครอบครัวให้สามารถเติบโตและส่งต่อธุรกิจสู่รุ่นลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเชื่อมโยงตลาดทุนกับธุรกิจครอบครัว แสดงให้เห็นว่าตลาดทุนจะสามารถเพิ่มศักยภาพธุรกิจครอบครัวได้ ทั้งการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ และการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจไทย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ส.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top