In Focus: “ฝีดาษลิง” กับความท้าทายระบบสาธารณสุขระดับโลก

ในขณะที่ทั่วโลกเพิ่งหายใจหายคอจากโควิด-19 ได้ไม่นานเท่าไหร่ แต่แล้วก็มีโรคระบาดมาทำให้ต้องร้อน ๆ หนาว ๆ กันอีกครั้ง เมื่อองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โรคฝีดาษลิง หรือเอ็มพอกซ์ (Mpox) เป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” (Public Health Emergency of International Concern หรือ PHEIC) ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี หลังจากมีรายงานพบการระบาดในมากกว่า 10 ประเทศในทวีปแอฟริกา โดยเริ่มจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) ก่อนกระจายไปยังประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันออก

แล้วฝีดาษลิงระลอกใหม่นี้น่ากลัวแค่ไหน In Focus สัปดาห์นี้จะขอพาทุกท่านไปรู้จักอาการและการแพร่กระจายของโรค สถานะปัจจุบัน รวมถึงผลกระทบต่อกลุ่มประชากรที่เปราะบางและระบบการดูแลสุขภาพ

 

*อาการ การแพร่เชื้อ และการป้องกัน*

อาการของผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงนั้นมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง โดยอาการเริ่มแรก ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และต่อมน้ำเหลืองบวม ตามด้วยผื่นที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งพัฒนาจากจุดด่างเป็นตุ่มน้ำ ตุ่มน้ำใส และตุ่มหนอง ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ผิวหนัง ปอดอักเสบ สมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อที่เยื่อบุตาถึงขั้นทำให้สูญเสียการมองเห็นได้เลยทีเดียว

โรคฝีดาษลิงติดต่อได้ทั้งจากสัตว์สู่คน ผ่านการสัมผัสกับสัตว์จำพวกหนู กระรอก และลิง และจากคนสู่คน ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งจากร่างกายของผู้ติดเชื้อ ละอองฝอยจากทางเดินหายใจ หรือวัตถุที่ปนเปื้อน

มาตรการป้องกันจึงนับว่ามีความสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาด โดย WHO แนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและบุคคลที่อยู่ในพื้นที่ที่พบการระบาด ฉีดวัคซีนป้องกัน รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ และปฏิบัติตามแนวทางการเว้นระยะห่างทางสังคม นอกจากนี้ การตรวจและแยกผู้ป่วยในระยะเริ่มต้นก็ถือเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการระบาดซ้ำได้

 

*สถานะปัจจุบัน*

โรคฝีดาษลิงกลายเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลก ครั้งที่ 2 ในระยะเวลาเพียง 2 ปี

ทั้งนี้ เชื้อไวรัสฝีดาษลิงแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลัก ๆ คือ Clade 1 และ Clade 2 ซึ่งในการประกาศเตือนภัยสาธารณสุขของ WHO เมื่อปี 2565 นั้นเป็นการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Clade 2 ที่อาการไม่รุนแรงนัก แม้จะติดต่อได้ทั่วไป โดยระบาดไปกว่า 100 ประเทศ รวมถึงในยุโรปและเอเชีย แต่รอบที่แล้วพบว่าการระบาดส่วนมากกระจุกตัวในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงรับมือได้โดยการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยง

อย่างไรก็ดี การประกาศรอบล่าสุดนี้เกิดขึ้นเนื่องจากพบการระบาดของสายพันธุ์ Clade 1 ซึ่งมีความรุนแรงมากกว่าเดิม ทั้งยังแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ไวรัสเกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ช่วงประมาณเดือนกันยายนปีที่แล้ว

โดยเมื่อต้นปี มีรายงานการติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเป็นประเทศแรก ก่อนระบาดไปยังประเทศข้างเคียงในแอฟริกา คือ บุรุนดี สาธารณรัฐแอฟริกากลาง เคนยา และรวันดา กระทั่งเริ่มพบผู้ติดเชื้อนอกทวีป

ข้อมูลล่าสุดจากสำนักข่าวอัลจาซีราระบุว่า ณ เดือนส.ค. 2567 มีรายงานผู้ป่วยฝีดาษลิงใน 18 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สาธารณรัฐคองโก สาธารณรัฐแอฟริกากลาง แอฟริกาใต้ บุรุนดี เคนยา แคเมอรูน กานา รวันดา ยูกันดา ไอวอรีโคสต์ ไลบีเรีย โมซัมบิก ไนจีเรีย สวีเดน ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และไทย

หลายประเทศในเอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อินเดีย และปากีสถาน ได้เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง ด้วยการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงเพื่อสกัดไม่ให้เชื้อเข้าสู่ประเทศ ขณะที่ไทยกลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่พบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ Clade Ib

ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลกได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ทั่วโลกเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนก.ย. 2567 ถึงเดือนก.พ. 2568 และต้องใช้เงินทุนจำนวน 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแผนการนี้มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างกลยุทธ์การเฝ้าระวังและการรับมือผ่านการประสานความพยายามในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับชาติ รวมถึงการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงการวินิจฉัยและวัคซีน ลดการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คน และเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการควบคุมการระบาดของโรค

สำหรับแผนการฉีดวัคซีนนั้นจะมุ่งเป้าไปที่กลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อหยุดยั้งการแพร่เชื้อ รวมถึงการรับประกันการเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์สำหรับกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

“การระบาดของโรคฝีดาษลิงในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและประเทศเพื่อนบ้านสามารถควบคุมและหยุดยั้งได้” นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO กล่าว

ด้านศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแอฟริกา (Africa CDC) เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และอีกหลายประเทศในทวีป จะเริ่มให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงแก่ประชาชนได้ภายในอีกไม่กี่วัน เมื่อวัคซีนจากสหภาพยุโรป ตลอดจนสหรัฐฯ และญี่ปุ่น เดินทางมาถึงแอฟริกา โดยขณะนี้ทางหน่วยงานกำลังทำงานร่วมกับประเทศต่าง ๆ ที่เผชิญกับการระบาดของโรคฝีดาษลิง เพื่อประสานกลยุทธ์ด้านโลจิสติกส์และการสื่อสารสำหรับการกระจายวัคซีน

“เราจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าการจัดการห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์มีความพร้อม.. เพื่อรับรองว่าวัคซีนนี้จะได้รับการจัดเก็บอย่างปลอดภัย และสามารถฉีดให้แก่ผู้ที่ต้องการได้อย่างปลอดภัย”

ดร.ฌอง คาเซยา ผู้อำนวยการใหญ่ CDC ของแอฟริกา กล่าว

 

*ผลกระทบต่อประชากรกลุ่มเปราะบางและระบบการดูแลสุขภาพ*

ประเด็นที่น่ากังวลคือ โรคฝีดาษลิงส่งผลกระทบต่อกลุ่มประชากรเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้สูงอายุ และผู้คนในภูมิภาคที่เข้าถึงบริการด้านการแพทย์ได้จำกัดอย่างเช่นในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่การระบาดรุนแรงที่สุด โดยเฉพาะในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกที่กำลังประสบกับการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการบันทึกสถิติมา โดยมีรายงานว่านับตั้งแต่การระบาดเริ่มขึ้นในประเทศจนถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยประมาณ 27,000 ราย และเสียชีวิตแล้วมากกว่า 1,100 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก

การเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้ป่วยฝีดาษลิงส่งผลให้ระบบสาธารณสุขในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดต้องเผชิญกับความตึงเครียดอย่างมาก ทั้งการขาดแคลนทรัพยากร ความเหนื่อยล้าของเจ้าหน้าที่ ความต้องการวัคซีนและยาต้านไวรัสซึ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่พอรองรับ ทำให้ความท้าทายเพิ่มมากขึ้นไปอีกระดับ

นอกจากนี้ ผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวสำหรับผู้รอดชีวิตจากฝีดาษลิง เช่น การเกิดแผลเป็นจากผื่น หรือการติดเชื้อแทรกซ้อนที่ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศต้องแบกรับภาระด้านทรัพยากรการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ฝีดาษลิงถือเป็นความท้าทายด้านสาธารณสุขที่มีความซับซ้อน การเฝ้าระวังและดำเนินการเชิงรุกจึงสำคัญอย่างยิ่งเพื่อควบคุมและป้องกันโรค ตั้งแต่การให้ความรู้แก่ประชาชนไปจนถึงการรณรงค์ฉีดวัคซีน นอกจากนี้ ความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาล องค์กรด้านสุขภาพ และชุมชนต่าง ๆ นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องกลุ่มผู้เปราะบางที่สุด และเพื่อให้แน่ใจว่าระบบการดูแลสุขภาพจะพร้อมรับมือกับการระบาดครั้งนี้ รวมไปถึงในอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ส.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top