นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงาน Thailand Focus 2024 หัวข้อ “Embracing Change, Igniting Growth” (ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง จุดพลังการเติบโต) โดยระบุว่า ในปีที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยไม่ดีเท่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นผลกระทบจากความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลก แรงกระแทกจากการเมือง และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่ไทยก็สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว จนสามารถบ่มเพาะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้
โดยตัวเลขล่าสุดจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้แสดงให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่นำโดยมูลค่าการบริโภคของภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ทำให้เราสามารถคาดหวังการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 2.3-2.8% ในครึ่งปีหลังนี้ได้ และรัฐบาลจะเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายภาครัฐอีกด้วย
รมช.คลัง กล่าวว่า ในปีหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราได้เห็นแล้วว่าการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญสำหรับระบบเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีความเข้มแข็งหลักในแง่ของพื้นที่ตั้งที่ได้เปรียบ ทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย และแรงงานที่มีความพร้อม ทำให้คาดหวังการเติบโตทางเศรษฐกิจว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลตระหนักว่าภาวะโลกร้อน เป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องได้รับการพูดถึงและแก้ไขอย่างเร่งด่วน และการเผยโฉมของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเพิ่มขึ้นในเวลาเดียวกัน ดังนั้น การได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนทั้งภายใน และต่างประเทศ จะเป็นแรงเสริมให้ระบบเศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตอย่างมั่นคงได้
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า รัฐบาลได้สร้างแรงจูงใจอันหลากหลายให้กับกลุ่มธุรกิจที่ต้องการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้แสดงให้เห็นว่ามีการก่อตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นมากถึง 64% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้รัฐบาลเล็งเห็นถึงการจัดวางตำแหน่งประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมมูลค่าสูง (High-valued industry)
“รัฐบาลได้วางเป้าหมายที่จะสร้างนโยบายเพิ่มแรงจูงใจให้กับผู้ที่ต้องการลงทุนในประเทศไทย เพื่อที่จะจุดประกายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคในที่สุด โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว เกษตรกรรม เศรษฐกิจดิจิทัล และการเงิน ด้วยความมุ่งหวังที่จะให้ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการเงินระดับภูมิภาคในอนาคต ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ ว่าประเทศไทยอยู่ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูง และพลังงานสีเขียว” รมช.คลัง กล่าว
- ผลักดัน Entertainment Complex หวังดึงเม็ดเงินก้อนใหม่เข้าประเทศ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลมีมาตรการหลากหลายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลงทุนทางการเงินที่มีพัฒนาการในหลายแง่มุม โดยเฉพาะธรรมาภิบาลที่ดีขึ้น ทำให้ผู้ลงทุนมองเห็นว่าประเทศไทยน่าลงทุนมากขึ้น หรือกองทุนวายุภักษ์ที่จะเปิดในปีนี้ เป็นมาตรการที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน และโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทย โดยเฉพาะนโยบาย Entertainment Complex ที่เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในขณะนี้ เพราะจะเป็นการรวมความบันเทิงอันหลากหลาย เช่น Concert Halls และกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ ไว้ในสถานที่เดียว
“พูดในหลักการ คือเราต้องการดึงดูดเม็ดเงิน เป็นหลักการง่าย ๆ เป็นกรอบกว้างของแนวคิดของเศรษฐกิจที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการดึงดูดเม็ดเงินก้อนใหม่เข้าประเทศ ผ่าน Entertainment Complex ไม่ว่าจะเป็น Financial Hub, ศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) เป็นต้น เหมือนเป็นน้ำในเศรษฐกิจที่จะเพิ่มมากขึ้น ส่วนรายละเอียดของ Entertainment Complex อยากให้รอแถลงนโยบายจากรัฐบาล น่าจะเหมาะสมมากกว่า และคิดว่าอีกไม่นาน จะมีความชัดเจน” นายเผ่าภูมิ กล่าว
รมช.คลัง กล่าวต่อว่า การพัฒนาระบบเศรษฐกิจประเทศไทยให้หลากหลาย เป็นความมุ่งหวังในการสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ซึ่งรัฐบาลยังมีการขยายโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เช่น การขยายสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ การพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง และการเชื่อมต่อระหว่างชายฝั่งอันดามันและอ่าวไทย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์แห่งการเชื่อมต่อระดับภูมิภาค
- เสนอสิทธิประโยชน์ พร้อมรองรับ Financial Hub
ทั้งนี้ ในส่วนของ Financial Hub นั้น กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาใน 2 ประเด็นหลัก เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งสิทธิประโยชน์ด้านภาษี เช่น income tax, corporate tax เป็นต้น ซึ่งจะต้องดึงดูดเทียบเท่า Hub ของประเทศอื่น ๆ และสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี อาทิ ความง่ายของการเข้าเมือง วีซ่า สิทธิประโยชน์ของแรงงานที่เข้ามา สิทธิประโยชน์การเข้ามาในพื้นที่ต่าง ๆ โดยทั้ง 2 ส่วนนี้จะต้องประสานกัน และอีกประเด็นคือ ecosystem โดยเฉพาะระบบไฟแนนซ์เชียลของประเทศที่จะต้องพัฒนาขึ้นเพื่อพร้อมดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ
“เรื่องภาษี จะต้องทำให้น่าดึงดูด ต้องมีการปรับให้เหมาะสม การลดอัตราภาษีต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนก็เป็นทางเลือกที่ดี เพื่อที่จะทำให้เอกชนหรือแรงงานที่จะเข้ามาได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี แต่เรื่องการปรับลดอัตราภาษี ก็ไม่ใช่ตัวเดียวเท่านั้น ยังมีเรื่อง ecosystem อื่น ๆ ด้วยที่จะต้องสร้างให้พร้อม เพราะฉะนั้นกระทรวงการคลัง ทำใน 2 มิติ คือ พิจารณาเรื่องอัตราภาษีที่เหมาะสม และทำ ecosystem ให้เหมาะสม โดยรัฐบาลพร้อมรับแนวความคิดของทุกฝ่ายมาพิจารณา รวมถึงแนวคิดของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องยอมรับว่าเป็นบุคคลที่ทรงคุณค่า ความเห็นดังกล่าวจึงเป็นความเห็นที่ทรงคุณค่า ดังนั้นก็เป็นคุณค่าที่ดีที่เราจะต้องนำมาพิจารณา” รมช.คลัง ระบุ
อย่างไรก็ดี ในส่วนของโครงการ Financial Hub ขณะนี้กระทรวงการคลัง ได้ตั้งคณะทำงานชุดใหญ่ขึ้นมา โดยหลังจากนี้จะเร่งเดินหน้าร่างกฎหมายการเงินใหม่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาราว 2 เดือนน่าจะเห็นรูปเห็นร่าง ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการค้ำประกันใหม่ ชื่อว่า NaCGA ซึ่งเชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน เพราะตัวกฎหมายแล้วเสร็จ 95% แล้ว คาดว่าน่าจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้เร็ว ๆ นี้
“หากมองไปในอนาคตข้างหน้า จะเห็นว่าประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เรามีทั้งความยืดหยุ่น และการปรับตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูง ขอเชิญชวนผู้ลงทุนทุกท่าน ให้มองหาโอกาสในการลงทุนในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนทางการเงิน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือการเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทที่มีศักยภาพในประเทศไทย เพื่อให้เราทุกคนเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน” นายเผ่าภูมิ กล่าวในท้ายสุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ส.ค. 67)
Tags: กระทรวงการคลัง, ดิจิทัลวอลเล็ต, รัฐบาล, เผ่าภูมิ โรจนสกุล