PMC เคาะราคา IPO ที่ 1.82 บ. P/E 12.18 เท่า เปิดจองซื้อ 3-5 ก.ย.

บมจ. พีเอ็มซีเลเบิล แมททีเรียลส (PMC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ. ซีลิค คอร์พ (SELIC) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนเสนอขายประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่หุ้นละ 1.82 บาท มูลค่าการเสนอขายรวม 210,601,300 บาท ระยะเวลาจองซื้อสำหรับผู้ถือหุ้นของ SELIC (Pre-emptive Rights) ระหว่างวันที่ 29-30 ส.ค.67 และ 2 ก.ย.67 ส่วนผู้ลงทุนทั่วไประหว่างวันที่ 3-5 ก.ย.67 โดยจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

บริษัทจะจัดสรรหุ้นเสนอขายให้ผู้ถือหุ้น SELIC จำนวน 34,715,000 หุ้น คิดเป็น 30.00% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขาย และผู้ลงทุนทั่วไป จำนวน 71,000,000 หุ้น คิดเป็น 61.36% และผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ จำนวน 10,000,000 หุ้นคิดเป็น 8.64% รวมทั้งหมด 115,715,000 หุ้น

การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO พิจารณาจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นของบริษัทฯ (Price to Earnings หรือ P/E Ratio) โดยราคาหุ้นละ 1.82 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Trailing 12-month P/E Ratio) เท่ากับ 12.18 เท่า เมื่อเทียบกับกำไรต่อหุ้นที่ 0.1494 บาท คำนวณจากกำไรสุทธิช่วง 12 เดือนย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.66-30 มิ.ย.67 ที่ 40.4 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดก่อน IPO ซึ่งเท่ากับ 270,000,000 หุ้น (Pre-IPO Dilution) และคิดเป็น P/E Ratio เท่ากับ 17.40 เท่า เมื่อเทียบกับกำไรต่อหุ้นที่ 0.1046 บาท หากพิจารณากำไรสุทธิต่อหุ้นที่คำนวณจากจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดหลัง IPO ซึ่งเท่ากับ 385,715,000 หุ้น (Post-IPO Dilution หรือ Fully-Diluted)

ทั้งนี้ จำนวน 57,856,750 หุ้น คิดเป็น 15.00% ของจำนวนหุ้นที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯที่ไม่ติด Silent Period ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ทั้งนี้ การคำนวณจำนวนและสัดส่วนหุ้นของผู้มีส่วนร่วมในการบริหารที่ไม่ติด Silent Period ดังกล่าว จะไม่นับรวมจำนวนหุ้นที่ผู้มีส่วนร่วมในการบริหารได้รับจัดสรรในฐานะผู้ถือหุ้นของ SELIC เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับจัดสรรหุ้นของบริษัทฯ

นอกจากนี้ SELIC ตกลงที่จะไม่ขายหุ้นส่วนที่ไม่ติด Silent Period จำนวนรวม 57,856,750 หุ้น เป็นเวลา 6 เดือนนับแต่วันแรกที่หุ้นสามัญของบริษัทฯ เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Voluntary Share Lockup)

PMC จะนำเงินจากการเสนอขาย IPO ไปใช้ลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับสายการผลิตใหม่ และชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน 180-190 ล้านบาทในปี 67 โดยบริษัทอยู่ระหว่างการลงทุนขยายกำลังการผลิตสติ๊กเกอร์ โดยการติดตั้งสายการผลิตใหม่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตจากเดิม 75 ล้านตรม. เป็น 185 ล้านตรม. ต่อปี มูลค่าการลงทุนรวม 230 ล้านบาท ซึ่งมีแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน 77% และกระแสเงินสด 23% ตามลำดับ บริษัทได้ลงทุนไปแล้วโดยส่วนใหญ่ บริษัทจะใช้เงินที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ชำระค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ส่วนที่เหลือ และชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับสายการผลิตใหม่ และ/หรือ ชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน

และลงทุนขยายธุรกิจของบริษัทฯ ซึ่งรวมถึงการขยายศูนย์กระจายสินค้าในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม จำนวน 10-20 ล้านบาทในปี 68-70 โดยบริษัทมีแผนจะเพิ่มศูนย์กระจายสินค้าในภูมิภาคอาเซียนให้ครบ 5 แห่ง เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดศูนย์กระจายสินค้าเพิ่มเติมในอินโดนีเซียและเวียดนามเพื่อสร้างความสามารถในการเข้าถึงลูกค้ารายใหญ่ในภูมิภาค ใช้เงินลงทุนประมาณ 5-10 ล้านบาทต่อแห่ง (ไม่รวมเงินทุนหมุนเวียนในการจัดซื้อสินค้า)

PMC ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สติ๊กเกอร์ (Sticker) หรือฉลากกาว (Self-Adhesive Label) รายใหญ่ บริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในรูปแบบสติ๊กเกอร์เปล่า ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ สติ๊กเกอร์กระดาษ สติ๊กเกอร์ฟิล์ม และสติ๊กเกอร์ชนิดพิเศษอื่นๆ จำหน่ายให้แก่ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจโรงพิมพ์ฉลากสินค้า (Printers) และผู้ผลิตฉลากสินค้า (Converters) เป็นหลัก โดยลูกค้าเหล่านี้จะนำสติ๊กเกอร์เปล่าไปดำเนินการออกแบบ จัดพิมพ์ลวดลายและตัดให้ได้รูปทรง เพื่อผลิตเป็นฉลากสินค้าให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือ End Users อีกทอดหนึ่ง

บริษัทจำหน่ายสติ๊กเกอร์ให้แก่ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านบริษัทและบริษัทย่อย 2 แห่ง ได้แก่ PMC Label Materials PTE., Ltd. (PMCS) ในสิงคโปร์ และ PMC Label Materials (Malaysia) SDN. BHD. (PMCM) ในมาเลเซีย ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนการจำหน่ายสินค้าในประเทศ 65% ส่วนอีก 35% เป็นการจำหน่ายให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศกว่า 15 ประเทศทั่วโลก บริษัทมีฐานลูกค้าหลักในประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาสามารถเพิ่มยอดขายสินค้าได้อย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ส.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top