แคนาดาเตรียมคุมเข้มโครงการที่เปิดโอกาสให้บริษัทต่าง ๆ จ้างแรงงานต่างด้าวด้วยค่าแรงต่ำ หลังรัฐบาลเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการปล่อยให้โครงการดังกล่าวขยายตัวเร็วเกินไป ทั้งยังบกพร่องในการแก้ปัญหาการกดขี่ลูกจ้างชั่วคราว
นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ของแคนาดา กล่าวเมื่อวันจันทร์ (26 ส.ค.) ว่า รัฐบาลกำลังทบทวนการเปลี่ยนแปลง 2 ประการใหญ่ที่ประกาศใช้ไปเมื่อปี 2565 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยในเวลานั้น ธุรกิจต่าง ๆ ได้รับอนุญาตให้ว่าจ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อเข้าทำงานในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวค่าจ้างต่ำเป็นจำนวนอย่างน้อย 20% ของพนักงานทั้งหมด อย่างไรก็ดี อีกไม่นานตัวเลขดังกล่าวจะลดลงมาอยู่ที่ 10% ในเกือบทุกภาคอุตสาหกรรมดังเช่นที่เคยเป็นมาก่อนเดือนเม.ย. 2565
นอกจากนี้ รัฐบาลยังเตรียมนำกฎระเบียบที่ว่าด้วยการห้ามการว่าจ้างแรงงานต่างด้าวในตำแหน่งงานที่มีค่าจ้างต่ำในภูมิภาคต่าง ๆ ที่มีอัตราการว่างงานตั้งแต่ 6% ขึ้นไป โดยอุตสาหกรรมจำนวนหนึ่งที่หาแรงงานได้ยากอย่างการเกษตร การแปรรูปสัตว์น้ำ บริการด้านสุขภาพ และการก่อสร้าง จะได้รับการยกเว้น
การเปลี่ยนแปลงเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งในขณะนั้นรัฐบาลเห็นว่ามีความจำเป็นต่อการช่วยเหลือบริษัทต่าง ๆ ในการรับมือกับตำแหน่งงานว่างที่พุ่งสูงขึ้น ถูกกล่าวโทษว่าเป็นเหตุให้ลูกจ้างชั่วคราวล้นประเทศ อย่างไรก็ดี สถานการณ์เศรษฐกิจในตอนนี้ “แตกต่างกับเมื่อ 2 ปีก่อนมาก” ทรูโดกล่าวในการแถลงข่าวที่เมืองฮาลิแฟกซ์ รัฐโนวาสโกเชีย
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า อัตราการว่างงานซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5% ในช่วงกลางปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 6.4% ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอัตราว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาว อยู่ที่ 14.2% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 10 ปีก่อนการระบาดของโควิด-19
ทรูโดกล่าวกับนักข่าวว่า “มันไม่ยุติธรรมสำหรับชาวแคนาดาที่กำลังพยายามหางานดีๆ และไม่ยุติธรรมสำหรับคนงานต่างด้าวชั่วคราว ซึ่งบางคนกำลังถูกปฏิบัติอย่างย่ำแย่และถูกเอารัดเอาเปรียบ”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ส.ค. 67)
Tags: อัตราว่างงาน, แคนาดา, แรงงานต่างด้าว