สภาพัฒน์ ห่วงเทรนด์ Fast Fashion กระทบสังคม-สิ่งแวดล้อม แนะออกมาตรการรับมือ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวถึงเทรนด์ Fast Fashion ว่า ปัจจุบันธุรกิจ Fast Fashion มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และสร้างงานให้กับผู้คนทั่วโลกเป็นจำนวนมาก แต่กระบวนการผลิตในหลายขั้นตอน กลับส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

*ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่

1. การปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 10% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ทั่วโลก สูงกว่าอุตสาหกรรมการบิน และการขนส่งทางเรือรวมกัน และคาดว่าภายในปี 2573 อาจเพิ่มขึ้นเกือบ 50%

2. การใช้น้ำเป็นจำนวนมาก และมลภาวะทางน้ำและอากาศที่มาจากกระบวนการย้อมและตกแต่ง การผลิตเสื้อเชิ้ตฝ้ายหนึ่งตัวต้องใช้น้ำถึง 2,700 ลิตร เทียบเท่ากับปริมาณที่ 1 คน ดื่มได้กว่า 2.5 ปี อีกทั้งกระบวนการย้อมและตกแต่ง ยังสร้างมลภาวะทางน้ำสูงมาก จากการใช้สารเคมีที่เป็นพิษ และอันตรายในการผลิต

3. การเพิ่มขึ้นของขยะที่ย่อยสลายยาก ซึ่งเสื้อผ้าราว 1 แสนล้านตัวที่ผลิตขึ้นในแต่ละปีทั่วโลก กลายเป็นขยะในหลุมฝังกลบกว่า 92 ล้านตัน และคาดว่าภายปี 2576 ขยะเสื้อผ้าจะเพิ่มเป็น 134 ล้านตันต่อปี โดยมีเพียง 1% ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ นอกจากนี้ เสื้อผ้ามีส่วนประกอบของขยะพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยาก อย่างไมโครพลาสติก ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต

4. การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและธรรมชาติที่เสื่อมโทรม โดยเฉพาะในกระบวนการปลูกวัตถุดิบ อาทิ การปลูกฝ้าย ที่มีการใช้ยาฆ่าแมลง และสารกำจัดวัชพืชปริมาณมาก ซึ่งเป็นพิษต่อระบบประสาทของสิ่งมีชีวิต ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และความเสื่อมโทรมของหน้าดิน

*ผลกระทบด้านสังคม ได้แก่

1. การสร้างวัฒนธรรมการบริโภคเกินพอดี ที่ไม่ได้ส่งผลแค่ปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้น ยังทำให้คนไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าของการซื้อสินค้า จากการโฆษณาส่งเสริมการขายที่กระตุ้นให้คนซื้อมากกว่าความจำเป็น และการทำให้ค่านิยมเปลี่ยน อาทิ การขายไลฟ์สไตล์ของ Influencer

2. ปัญหาสุขภาพ สินค้า Fast Fashion มักมีการปนเปื้อนของสารเคมี โดยเฉพาะไมโครพลาสติก ที่สามารถสะสมในร่างกาย และเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ทั้งต่อผู้สวมใส่ และรุนแรงขึ้นต่อกลุ่มแรงงานที่ทำงานในภาคการผลิตดังกล่าว

3. การละเมิดลิขสิทธิ์ เกิดขึ้นได้ง่ายและบ่อยครั้ง โดยเฉพาะการคัดลอกดีไซน์ของแบรนด์หรู หรือดีไซเนอร์ชื่อดัง มาผลิตสินค้าเลียนแบบในราคาที่ถูกกว่า

4. การละเมิดสิทธิแรงงาน จากการพยายามควบคุมต้นทุนการผลิต จึงมักลดต้นทุนด้านแรงงานด้วยการละเมิดสิทธิแรงงาน ทั้งการใช้งานเกินเวลา การล่วงละเมิดทางเพศการใช้แรงงานเด็กแบบผิดกฎหมาย ซึ่งมักพบในประเทศที่เป็นฐานการผลิตในเอเชีย

ทั้งนี้ จากผลกระทบของ Fast Fashion ที่ได้กล่าวมานี้ ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลก เริ่มตระหนักมากขึ้น ทั้งการออกมาตรการรับมือและกำกับควบคุมผลกระทบ ซึ่งประเทศไทยอาจต้องดำเนินการเพื่อป้องกัน และลดปัญหาที่จะเกิดขึ้น อาทิ

– การสนับสนุนให้อุตสาหกรรมสิ่งทอปรับตัวให้สอดรับกับกระแส Sustainable Fashion และ Textile Recycling ที่ต้องลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อาทิ การมีมาตรการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และยกระดับสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

– การส่งเสริมให้มีการคัดแยกและจัดเก็บข้อมูลขยะประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะขยะสิ่งทอ เนื่องจากเป็นปัญหาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากในอนาคต

– การกำกับดูแลการโฆษณา/การตลาด ที่ส่งเสริมการขายสินค้า Fast Fashion ที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยการกำหนดเงื่อนไขการโฆษณาอย่างเหมาะสม อาทิ การให้ข้อมูลรายละเอียดการผลิต/กระบวนการผลิต ข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ของผลิตภัณฑ์ ตลอดจนมีการสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภคควบคู่ไปด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ส.ค. 67)

Tags: ,
Back to Top