Festival Economy ตัวขับเคลื่อนศก.ที่น่าจับตา สภาพัฒน์แนะไทยปรับใช้จากเทศกาลระดับโลก

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวถึงการใช้เทศกาลเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Festival Economy) ว่า การให้ความสนใจกับการทำกิจกรรมที่ตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์มากขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมที่มีลักษณะเป็นเทศกาลมีการพัฒนาและมีรูปแบบที่หลากหลาย ได้รับความนิยมและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยปี 67 การท่องเที่ยวเชิงกิจกรรม ซึ่งรวมถึงเทศกาล คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดทั่วโลก 1.63 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มสูงกว่า 1.5 เท่า ภายใน 10 ปี นอกจากนี้ เทศกาลยังสร้างประโยชน์ในด้านอื่น ทั้งสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่จัดงาน เผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่น และเอื้อให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่

จากประโยชน์ดังกล่าว ทำให้หลายประเทศใช้เทศกาลเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Festival Economy) เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีความพยายามผลักดัน และยกระดับเทศกาล ภายใต้การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการจัดงานเทศกาล

อย่างไรก็ตาม การจัดกิจกรรมเทศกาลของไทยที่ผ่านมา พบว่าเทศกาลขนาดใหญ่มีไม่มาก ส่วนใหญ่มีผู้เข้าร่วมน้อย และมีการเชื่อมโยงกับท้องถิ่นจำกัด รวมทั้งยังมีข้อจำกัด อาทิ การจราจรติดขัด ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น จุดบริการต่าง ๆ ไม่เพียงพอ และการก่ออาชญากรรม

ทั้งนี้ จากการจัดเทศกาลระดับโลกที่ประสบความสำเร็จ มีข้อค้นพบ และแนวทางจัดการปัญหา ที่ไทยสามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทได้ ดังนี้

1. การสร้างจุดขายของเทศกาลที่แตกต่างจากเทศกาลอื่นหรือที่อื่น ซึ่งทำได้โดยการดึงจุดแข็งของวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์มาเป็นจุดขาย อาทิ เทศกาลริโอ คาร์นิวัล ของประเทศบราซิล ที่มีการนำการเต้นแซมบ้ามาผสมผสาน ทำให้มีเสน่ห์และโดดเด่นกว่าเทศกาลคาร์นิวัลประเทศอื่น อีกทั้งยังอาจเกิดจากการเพิ่มความคิดสร้างสรรค์หรือต่อยอด อาทิ เทศกาลปามะเขือเทศ ในประเทศสเปน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากเหตุทะเลาะวิวาทที่มีการใช้มะเขือเทศปาใส่กัน

2. การยกระดับระบบความปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ร่วมงาน อาทิ ในช่วง เทศกาลริโอ คาร์นิวัล มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อเป็นมาตรการในการปกป้อง และดูแลความปลอดภัยสตรีในช่วงเทศกาล เช่นเดียวกับเทศกาลปามะเขือเทศ ได้ออกมาตรการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมและเตรียมพร้อมด้านความปลอดภัย และเหตุฉุกเฉิน รวมถึงการนำเทคโนโลยีในการจัดงานมาใช้ เช่น การติดตั้งเทคโนโลยีตรวจจับอาวุธขั้นสูงในเทศกาลดนตรีฮิปฮอประดับโลก อย่าง Rolling Loud

3. การเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน อาทิ ประเทศเบลเยียมได้มีมาตรการรองรับสำหรับ เทศกาลดนตรี Tomorrowland ที่มีการเชื่อมโยงระบบขนส่ง ทั้งรถรับ-ส่งจากสนามบิน และรถไฟไปยังจุดจัดงาน การออกแพ็คเกจทริปที่รวมตั๋วเข้าร่วมงาน ตั๋วเครื่องบิน พร้อมโรงแรมที่พัก และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เช่น ล็อกเกอร์ ห้องน้ำ สถานีชาร์จโทรศัพท์ ฯลฯ และการออกแบบโดยคำนึงถึงผู้พิการ

4. การประชาสัมพันธ์งานเทศกาล และมีมาตรการส่งเสริมการตลาดให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เช่น เทศกาล Edinburgh Festival Fringe ของประเทศสก็อตแลนด์ มีการรวบรวมข้อมูล และจัดกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงลึกอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย และทำการตลาด รวมถึงยังอาศัยสื่อโซเชียลมีเดียประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง

5. การสนับสนุนจากภาครัฐ และการบูรณาการความร่วมกับเอกชน และหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งจะต้องกระจายหน้าที่ตามความเชี่ยวชาญอย่างเหมาะสม อาทิ เทศกาลโคลน ของประเทศเกาหลีใต้ หน่วยงานท้องถิ่นจัดกิจกรรมที่ใช้ประโยชน์จากโคลน ส่วนภาคการศึกษาช่วยปรับแผนพัฒนาเชิงวัฒนธรรมให้ดึงดูดนักท่องเที่ยว

6. การจัดการกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการจัดเทศกาล เทศกาลดนตรีและศิลปะระดับโลก Coachella ที่จัดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมงานลดปริมาณขยะ โดยให้นำขวดเปล่ามาแลกน้ำหรือของที่ระลึกอื่น ๆ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ส.ค. 67)

Tags: ,
Back to Top