การลักลอบขนส่งของเสียอันตรายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงโดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เข้มงวด ของเสียอันตรายเหล่านี้มักประกอบด้วยสารอันตรายที่ประเทศผู้รับกากของเสียไม่มีความสามารถในการจัดการได้อย่างปลอดภัย
ถึงแม้จะมีความพยายามในระดับนานาชาติ โดย อนุสัญญาบาเซิล ได้ถูกจัดทำขึ้นในปี ค.ศ.1989 เพื่อให้มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการห้ามการส่งออกของเสียอันตรายไปยังประเทศที่ขาดความสามารถในการกำจัดและจัดการอย่างปลอดภัย ประเทศไทย ซึ่งได้ลงนามในอนุสัญญานี้ก็มีความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับการนำเข้าและการกำจัดของเสียอันตรายที่ผิดกฎหมายมาโดยตลอด
อนุสัญญาบาเซิลมีบทบาทสำคัญเพื่อเป็นแม่แบบในการจัดทำกรอบทางกฎหมายภายในประเทศสมาชิกเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามพรมแดน โดยกำหนดให้ต้องมีการยินยอมล่วงหน้าจากประเทศผู้นำเข้า และกำหนดว่าขยะต้องได้รับการจัดการในลักษณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อนุสัญญานี้มุ่งป้องกันไม่ให้ประเทศที่พัฒนาแล้วโยนปัญหาการจัดการขยะของตนไปให้กับประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยและชาติสมาชิกอาเซียนยังคงเผชิญกับความท้าทาย เนื่องจากปริมาณของเสียที่ถูกลักลอบเข้ามามีจำนวนมากขึ้น ปัญหานี้ยิ่งรุนแรงขึ้นหลังจากนโยบาย The Operation National Sword ของจีนในปี 2018 ซึ่งห้ามการนำเข้าขยะพลาสติกและวัสดุอื่น ๆ มายังประเทศจีน ส่งผลให้มีการเบี่ยงเบนเส้นทางขนส่งและมีการค้าขยะของเสียอันตรายมายังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายหลักของขยะของเสียอันตรายเหล่านี้
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการหลายประการเพื่อเสริมสร้างระบบการจัดการขยะ และกลไกการบังคับใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับการนำเข้าขยะถูกนำมาบังคับใช้เข้มงวดขึ้น และมีการเพิ่มการตรวจสอบสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะ นอกจากนี้ ยังมีความพยายามร่วมกันในการปิดแหล่งทิ้งขยะผิดกฎหมายและดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าขยะผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายยังคงเป็นความท้าทาย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่การตรวจสอบทำได้ยากและการดำเนินการที่ผิดกฎหมายสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย จึงก่อให้เกิดแนวความคิด การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการจัดการขยะของเสียอันตราย
1) ก่อให้เกิดการติดตามขยะอย่างโปร่งใส เทคโนโลยีบล็อกเชนช่วยให้ทุกขั้นตอนในกระบวนการจัดการขยะ ตั้งแต่การเก็บรวบรวม การขนส่ง ไปจนถึงการกำจัดสุดท้าย ถูกบันทึกอย่างโปร่งใสในระบบที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ข้อมูลทั้งหมดจะถูกบันทึกไว้ในบล็อกเชน ทำให้สามารถติดตามเส้นทางของขยะได้อย่างถูกต้องและป้องกันการปลอมแปลงข้อมูล ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันการทิ้งขยะอันตรายในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม
2) การใช้ Smart Contracts เพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย Smart Contracts สามารถตั้งโปรแกรมให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของอนุสัญญาบาเซิลและกฎหมายสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ โดย Smart Contracts จะสามารถตรวจสอบได้ว่ากระบวนการจัดการขยะเป็นไปตามมาตรฐานทางกฎหมายหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามข้อกำหนด จะมีการแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่หรืออาจกำหนดค่าปรับโดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทจัดการขยะสามารถใช้ Smart Contracts เพื่อตรวจสอบว่าขยะอันตรายถูกจัดการอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายในประเทศหรือไม่ หากมีการละเมิดกฎ Smart Contracts จะทำหน้าที่แจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมาย
3) ช่วยสร้างแรงจูงใจในการจัดการขยะอย่างถูกต้อง บล็อกเชนยังสามารถนำมาใช้ในการสร้างแรงจูงใจให้กับการจัดการขยะอย่างถูกต้อง เช่น การออกโทเคนหรือเครดิตสำหรับการรีไซเคิลหรือการกำจัดขยะอย่างปลอดภัย ประชาชนและภาคธุรกิจอาจได้รับโทเคนหรือเครดิตเป็นรางวัลสำหรับการจัดการขยะที่ดี โดยโทเคนเหล่านี้สามารถติดตามได้ผ่านบล็อกเชนและนำไปใช้ชำระค่าบริการของเทศบาลหรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ ในประเทศ การใช้โทเคนนี้สามารถสนับสนุนความพยายามของประเทศในการปรับปรุงการจัดการขยะและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากขยะอันตรายได้
4) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและลดการค้าขยะที่ผิดกฎหมาย ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจสร้างเครือข่ายบล็อกเชนระดับภูมิภาคเพื่อการติดตามการขนส่งขยะข้ามพรมแดน การแบ่งปันข้อมูลแบบเรียลไทม์ผ่านบล็อกเชนสามารถรับประกันได้ว่าขยะได้รับการจัดการอย่างถูกต้องตามกฎหมายตลอดเส้นทาง ทำให้ยากต่อการค้าขยะที่ผิดกฎหมาย เช่น การใช้บล็อกเชนเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการส่งออกขยะมายังประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจว่าสอดคล้องกับอนุสัญญาบาเซิล
กรณีตัวอย่างการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนในการจัดการขยะของเสียอันตรายในประเทศเกาหลีใต้ ศุลกากรกำทดสอบระบบตรวจสอบข้อมูลและการขนส่งระหว่างการนำเข้า/ส่งออกกับผู้ประกอบการภายในประเทศจำนวน 50 ราย โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจปล่อยสินค้าแทนการใช้กระดาษที่มักพบข้อผิดพลาดจากมนุษย์บ่อยครั้ง การทดสอบนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อดูว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนจะช่วยเพิ่มความถูกต้องและความโปร่งใสในการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าหรือไม่ ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการค้าระหว่างประเทศ โดยระบุว่าสินค้าผลิตขึ้นในประเทศใดหรือผ่านกระบวนการในประเทศใด นอกจากนี้ยังรวมถึงรายละเอียดของสินค้า ประเทศส่งออก ประเทศปลายทาง และอาจใช้เป็นใบขนสินค้าส่งออกได้
โดยศุลกากรเกาหลีได้จัดตั้งคณะทำงาน 5 คณะ และรวบรวมผู้ประกอบการส่งออกที่ประกอบกิจการในประเทศจำนวน 50 ราย และคณะทำงานกับผู้ประกอบการนำเข้าในเวียดนาม 10 ราย เพื่อทดสอบระบบดังกล่าว หากประสบความสำเร็จ ศุลกากรเกาหลีใต้จะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในบริการอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์จากบล็อกเชนที่ใช้ในการทดสอบนี้ถูกพัฒนาโดย Samsung และเคยถูกใช้ในการทดสอบการขนส่งจากเกาหลีใต้ไปยังจีน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดี
ทั้งนี้ การผสมผสานเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ากับการจัดการขยะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและบังคับใช้กฎหมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะของเสียอันตรายอย่างยั่งยืน
ดุษดี ดุษฎีพาณิชย์
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการค้า การลงทุน และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
ทนายความหุ้นส่วนกลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์ (ABER Group)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ส.ค. 67)
Tags: Cryptocurrency, Decrypto, SCOOP, กฎหมาย, คริปโทเคอร์เรนซี, สินทรัพย์ดิจิทัล