นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เผยภาวะสังคมไทยในไตรมาส 2/67 หนี้สินครัวเรือน (ไตรมาส 1) มีมูลค่า 16.37 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.5% ชะลอลงจาก 3% ในไตรมาสก่อน (ไตรมาส 4/66) และคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ที่ 90.8% ลดลงจาก 91.4% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยหนี้ครัวเรือนขยายตัวชะลอลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ส่วนหนึ่งเกิดจากครัวเรือนมีภาระหนี้ในระดับสูง และคุณภาพสินเชื่อที่ปรับลดลง จึงทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อแก่ครัวเรือน
ด้านคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนปรับลดลงต่อเนื่อง โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารพาณิชย์ มีมูลค่า 1.63 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.99% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.88% ในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน
“NPLs ที่สูงขึ้นกว่าช่วงโควิดนั้น เนื่องจากตอนนี้มีปัญหาเรื่องรายได้กระจายไม่ทั่วถึง ซึ่งต้องมีมาตรการใช้สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ร่วมกับการปรับโครงสร้างหนี้ การแก้ปัญหา ถ้าแก้แล้วเกิด moral hazard ก็ไม่ควรทำ ควรมีมาตรการช่วยสร้างรายได้ อาจเป็นการลงทุนของรัฐที่จะช่วยสร้างการจ้างงาน สร้างรายได้บุคคล ขณะเดียวกัน ต้องอาศัยความร่วมมือของธนาคารต่าง ๆ และ non-bank ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะต้องพยายามดึงส่วนของ non-bank มาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ผู้กู้มีกำลังการใช้จ่าย ซึ่งเรื่องนี้กำลังพูดคุยว่าจะทำลักษณะใด จะต้อง haircut หรือไม่ หรือถ้าต้อง haircut อาจต้องทำบางกลุ่มที่พุ่งเป้าจริง ๆ อย่างไรก็ดี การ haircut ก็มีผลทำให้เกิด moral hazard ระดับหนึ่งเช่นกัน ต้องชั่งน้ำหนักในการแก้หนี้” นายดนุชา กล่าว
นอกจากนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่
1. การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้บัตรเครดิตที่เริ่มมีปัญหาการชำระหนี้คืน หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับอัตราการจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำจาก 5% เป็น 8% ตั้งแต่รอบบัญชีเดือนม.ค. 67 ส่งผลให้ลูกหนี้บางส่วน ไม่สามารถปรับตัวและมีปัญหาในการชำระคืน
“ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังคงไว้ที่ 8% ซึ่งจริง ๆ แล้วควรต้องอยู่ที่ 10% แล้ว ต้องดูว่ามาตรการจะเป็นอย่างไรต่อไป ส่วนหนึ่งมีผลแน่นอนกับคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิต ผ่อนชำระ ส่วนหนึ่งก็เป็นการสร้างวินัยทางการเงินให้ดีขึ้นด้วย ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการแบ่งเบาภาระในการผ่อนชำระลง ส่วนควรทบทวนตัวเลขหรือไม่นั้น มีหลากหลายความเห็นจากหลายฝ่าย ต้องมาพูดคุยกัน” นายดนุชา กล่าว
2. รูปแบบการให้กู้ยืมนอกระบบที่หลากหลาย โดยเฉพาะที่ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ประกอบกับเงื่อนไขการเข้าถึงสินเชื่อที่ง่าย อาจนำไปสู่พฤติกรรมการก่อหนี้เกินตัวได้ง่าย อีกทั้งมีความเสี่ยงการมีหนี้สินพ้นตัวจากอัตราดอกเบี้ยนอกระบบที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่
“ปัจจุบัน มักพบเห็นการให้กู้ยืมนอกระบบผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งผ่อนไปใช้ไป หรือผ่อนครบรับของ ผ่านทุกแพลตฟอร์ม ทั้ง Line, X, Instagram และ Tiktok”
ส่วนประเด็นที่มีการเสนอให้ธนาคารพาณิชย์ ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ลงครึ่งหนึ่งนั้น นายดนุชา กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องพูดคุยกับกระทรวงการคลัง และ ธปท. ว่ามาตรการนี้จะมีผลอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ดี ถ้าลดเงินนำส่งครึ่งหนึ่ง ก็จะต้องใช้เวลาในการชดใช้หนี้ FIDF ยืดออกไประยะหนึ่ง และอยู่ที่ว่าจะนำเงินที่ได้จากส่วนที่ต้องชำระให้ FIDF ลดลงนี้ไปใช้ช่วยแก้หนี้ครัวเรือนในด้านใด ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียให้ดี ทั้งนี้ ถือเป็นประเด็นที่เคยพูดคุย และเป็นแนวคิดหนึ่งที่เป็นทางเลือกอยู่ ต้องไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม
อัตราว่างงาน Q2 เพิ่มขึ้น แต่ไร้สัญญาณอันตราย
สถานการณ์แรงงานไตรมาส 2/67 ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.5 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 66 ที่ 0.4% ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลง 5% ขณะที่สาขานอกภาคเกษตรกรรม ขยายตัวที่ 1.5% โดยสาขาการขนส่งและเก็บสินค้า ปรับตัวดีขึ้น 9% ขณะที่สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ยังคงขยายตัวได้ดีที่ 4.9% มีปัจจัยสำคัญจากการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สาขาการผลิตปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์การส่งออก ส่วนสาขาก่อสร้างขยายตัวชะลอลงตามการหดตัวของอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัย
ส่วนชั่วโมงการทำงานค่อนข้างทรงตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 42.8 และ 46.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่ผู้ทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้น 2.5% ผู้ทำงานต่ำระดับและผู้เสมือนว่างงาน ลดลง 19.8% และ 8.7% ตามลำดับ ขณะที่อัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 1.07% หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 4.3 แสนคน โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.01% ในไตรมาส 1/67
“คาดว่าตัวเลขการว่างงานในช่วงถัดไป ถ้าดูตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย มองว่าในไตรมาสถัดไป จะมีส่วนทำให้การว่างงานปรับตัวดีขึ้น ส่วนการว่างงานในไตรมาสนี้ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.07% ยังอยู่ในระดับที่ไม่อันตรายสำหรับเศรษฐกิจไทย แต่ช่วงถัดไปมีแนวโน้มดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ” นายดนุชา กล่าว
สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่
1. การปรับตัวของแรงงานให้มีทักษะที่สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในอนาคต โดย World Economic Forum (WEF) ระบุว่า ภายในปี 2570 งานในภาคธุรกิจกว่า 42% จะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ ขณะที่ผลการสำรวจของไมโครซอฟท์ประเทศไทย ร่วมกับ LinkedIn พบว่า ผู้บริหารไทยกว่า 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้าน AI
2. ผลกระทบของการขาดสภาพคล่องของ SMEs และปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นต่อการจ้างงาน SMEs เป็นกลุ่มธุรกิจที่รองรับแรงงานไว้เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันประสบปัญหาสภาพคล่อง โดยมีสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ต่อสินเชื่อรวม 7.2% ในไตรมาส 4/66 เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว อีกทั้งดัชนีต้นทุนของธุรกิจรายย่อย (Micro) และธุรกิจขนาดกลาง (Medium) ยังเพิ่มขึ้น อาจนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงานได้
3. ผลกระทบของอุทกภัยต่อผลผลิตทางการเกษตร และรายได้ของเกษตรกร โดยอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา (16 ก.ค.-1 ส.ค. 67) ส่งผลให้มีพื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายแล้ว 308,238 ไร่ ขณะที่ในช่วงกลางเดือนก.ค.-ก.ย. 67 คาดว่าประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนอง 60-80% ของพื้นที่ ซึ่งเสี่ยงที่ภาคเกษตรกรรมจะได้รับความเสียหายมากขึ้น และจะกระทบต่อรายได้ ต้นทุนการเพาะปลูก และความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกร
นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับผลกระทบของสถานการณ์น้ำท่วมต่อพืชผลทางการเกษตร เนื่องจากความรุนแรงของน้ำท่วมในครั้งนี้ยังไม่จบ มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหลายจังหวัด จึงต้องดูปริมาณน้ำกับพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมว่ากระทบกับพื้นที่เพาะปลูกมากน้อยเท่าไร และมีพืชอะไรบ้างที่ได้รับผลกระทบ ถึงจะสามารถประเมินผลกระทบในภาพรวมได้
“แน่นอนว่า หากมีผลกระทบจากน้ำท่วม จะต้องมีการลงทุนทั้งการปรับปรุงก่อสร้าง ต้องมีมาตรการซัพพอร์ต จากการติดตามจากข่าวคือประชาชนหลายคนไม่คิดว่าน้ำจะมาเยอะขนาดนี้ ดังนั้น ความเสียหายในแง่บุคคลค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะผู้ประกอบการอิสระ ที่เปิดร้านค้าต่าง ๆ อาจต้องดูมาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน ขณะที่เกษตรกร ในแง่ของการช่วยเหลือด้านสินเชื่อต่าง ๆ ก็ต้องสำรวจความเสียหายก่อนว่าขนาดไหน” นายดนุชา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ส.ค. 67)
Tags: ดนุชา พิชยนันท์, สศช., สินเชื่อ, หนี้ครัวเรือน, หนี้สินครัวเรือน