นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้คณะผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พร้อมด้วย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันอาหาร สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พร้อมทั้งผู้ประกอบการไทย เดินทางเยือนบรูไนดารุสซาราม ระหว่างวันที่ 25 – 28 สิงหาคม 2567 เพื่อดำเนินกิจกรรมการเจรจาภายใต้กรอบความร่วมมือในการขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลไทย รวมถึง การจัดงาน Halal Thai Night เพื่อประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ และขยายตลาดสินค้าฮาลาลไทย
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ผลจากการประชุมคณะกรรมการฮาลาลแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2567-2570) ในระยะ 1 ปีแรก Quick Win ให้บรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะกิจกรรมการเจรจาภายใต้กรอบความร่วมมือในการขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลไทยกับกลุ่มประเทศเป้าหมาย ได้แก่ มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย เรียบร้อยแล้ว โดยเมื่อวันที่ 5-7 สิงหาคม 2567 กระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมฮาลาล ครั้งที่ 4 และ การประชุมคณะทำงานผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล ครั้งที่ 18 ภายใต้แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ณ เมืองลังกาวี สหพันธรัฐมาเลเซีย
ทั้งนี้ ในปี 2568 ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมด้านคณะทำงานผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล เพื่อร่วมแสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมฮาลาลไทยอีกด้วย สำหรับแผนงานต่อไปคือ การประชุมความร่วมมือทวิภาคี ไทย-บรูไนดารุสซาลาม เพื่อต่อยอดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจตามผลการเยือนระดับผู้นำของทั้งสองฝ่าย
โดยการเยือนบรูไนครั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะเข้าพบหน่วยงานสำคัญด้านอุตสาหกรรมฮาลาลของบรูไน ได้แก่ Barramundi, Darussalam Enterprise (DARe) ด้านการส่งเสริมและพัฒนา MSMEs , Brunei Darussalam Food Authority (BDFA) ด้านความปลอดภัยอาหารและมาตรฐานอาหาร, Ministry of Finance and Economy กระทรวงการคลังและเศรษฐกิจบรูไน หน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความร่วมมือระหว่างประเทศ และ Brunei Economic Development Board (BEDB) ด้านการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนและธุรกิจในบรูไน
การเข้าพบเจรจาหารือขยายความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลระหว่างไทยและบรูไน ส่งเสริมและพัฒนาฮาลาลทั้งในด้านอาหารและที่ไม่ใช่อาหาร (Food and Non-Food) เพื่อยกระดับมาตรฐานและเทคโนโลยี และสร้างความร่วมมือที่จะร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของทั้งสองฝ่ายให้เติบโตยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทยระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2567–2570)
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและคณะผู้ประกอบการมีกำหนดการเข้าพบเจรจาหารือกับภาคเอกชนรายใหญ่และนักลงทุนสาขาอุตสาหกรรมฮาลาลของบรูไน อาทิ บริษัท Ben Foods (B) Sdn Bhd. ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าโภคภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ดำเนินธุรกิจคลังสินค้าขนาดใหญ่และทันสมัย และมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และ Barramundi Group Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปลา โดยเน้นการเพาะเลี้ยงและจัดจำหน่ายปลาบารามันดีที่มีชื่อเสียงในด้านความสดใหม่และคุณภาพสูง ความมุ่งมั่นในการจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสำคัญการจัดงาน Halal Thai Night ในวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรม The Empire Brunei โดยได้เชิญแขกผู้มีเกียรติจากทั้งบรูไนและไทยเข้าร่วมงาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย และสร้างเครือข่ายการผลิตระหว่างไทยและบรูไน มุ่งสู่เป้าหมายในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค ASEAN Halal Hub ภายในปี พ.ศ. 2570 โดยมีผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลเป้าหมายในการนำเสนอ ได้แก่ อาหารฮาลาล แฟชั่นฮาลาล ยา สมุนไพรและเครื่องสำอางฮาลาล โกโก้ฮาลาล และบริการและท่องเที่ยวฮาลาล ตามร่างแผนปฏิบัติการในระยะ Quick Win ปี 2567 เพื่อมุ่งเน้นการขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตฮาลาลไทย รวมถึงการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ศักยภาพสินค้าและบริการฮาลาลไทย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า การดำเนินกิจกรรมการเจรจาภายใต้กรอบความร่วมมือในการขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลไทย-บรูไน ครั้งนี้ จะเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในระดับนโยบายที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อการพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมฮาลาลระหว่างไทยและบรูไน ต่อยอดการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมกับไทยได้ในหลายด้าน เช่น การขยายตลาดสินค้าฮาลาลไทย การลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตฮาลาล และการพัฒนาบุคลากร เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์สูงสุดร่วมกัน
โดยล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ กระทรวงการคลังและเศรษฐกิจแห่งบรูไนดารุสซาลาม ได้บรรลุการเจรจาเพื่อจัดทำ “ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนในผลิตภัณฑ์อาหารและบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างอุตสาหกรรมฮาลาลและการพัฒนาส่งเสริมการส่งออกฮาลาล” เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลร่วมกัน โดยทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการดำเนินงานตามขั้นตอนทางกฎหมายภายในประเทศ เพื่อเตรียมการลงนามระดับรัฐมนตรี ภายใต้กิจกรรมความร่วมมือทวิภาคี ไทย-บรูไนดารุสซาลาม ของทั้งสองฝ่ายในเร็วๆ นี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ส.ค. 67)
Tags: กระทรวงอุตสาหกรรม, บรูไน, พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล, วรวรรณ ชิตอรุณ, ฮาลาล