ผลวิจัยใหม่ได้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับคุณภาพทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กที่จำหน่ายในสหรัฐอเมริกาในทุกวันนี้ อีกทั้งยังพบว่ามีการโฆษณาที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดด้วย
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ผลวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารนูเทรียนท์ส (Nutrients) เมื่อวันพุธ (21 ส.ค.) ระบุว่า ผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กมากถึง 60% ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดด้านโภชนาการระหว่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ผลิตภัณฑ์เกือบ 100% ยังไม่เป็นไปตามข้อกำหนดด้านการโฆษณา
คณะนักวิจัยจากออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และบราซิล ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก 651 รายการที่วางจำหน่ายในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ 10 แห่งในสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงวอลมาร์ท (Walmart), โครเกอร์ (Kroger) และคอสโค (Costco)
ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับการประเมินโดยเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานด้านโภชนาการและการโฆษณา (Nutrient and Promotion Profile Model) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานอันเข้มงวดที่นำมาใช้ในปี 2565 สำหรับอาหารสำหรับเด็กอายุ 6 ถึง 36 เดือน
ผลวิจัยเผยให้เห็นว่า มีผลิตภัณฑ์เพียง 43.1% ที่ผ่านเกณฑ์ด้านโภชนาการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ขณะที่มากกว่า 70% ไม่ผ่านเกณฑ์ปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับ และ 44% มีปริมาณน้ำตาลเกินกว่าที่แนะนำ
นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่าผลิตภัณฑ์ขนาด snack-size ทั้งหมดไม่ผ่านเกณฑ์ปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับ และมีถึง 87.1% ที่ไม่ผ่านมาตรฐานปริมาณน้ำตาล ขณะที่ 71% มีการเติมน้ำตาลหรือสารให้ความหวาน
“การเติมน้ำตาลและปริมาณน้ำตาลที่สูงในผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กในสหรัฐฯ ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากการบริโภคน้ำตาลมากเกินไปเป็นสาเหตุหลักของโรคอ้วนและโรคอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็งบางชนิด” คณะนักวิจัยระบุในรายงาน
นอกจากนี้ ผลวิจัยยังเผยให้เห็นว่ามีการใช้ข้อความโฆษณาที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันอย่างแพร่หลายบนบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กในสหรัฐฯ
เกือบ 100% ของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการตรวจสอบ มีการกล่าวอ้างอย่างน้อย 1 รายการที่ข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกได้สั่งห้ามไว้ ยิ่งไปกว่านั้น ผลิตภัณฑ์บางตัวมีการกล่าวอ้างมากถึง 11 รายการ
คณะนักวิจัยระบุว่า คำกล่าวอ้างด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมมักมาพร้อมกับข้อความด้านสุขภาพหรือโภชนาการที่ทำให้เข้าใจผิด ซึ่งทำให้เกิด “หลุมพรางด้านสุขภาพ” (Health Halo) ที่อาจทำให้ผู้ปกครองเข้าใจผิดเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น
รายงานสรุปว่า “ในบรรดาผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กที่ผลิตในเชิงพาณิชย์และวางจำหน่ายในห้างค้าปลีกชั้นนำ 10 อันดับแรกของสหรัฐฯ ไม่มีผลิตภัณฑ์ใดเลยที่ได้มาตรฐานสากลทั้งในด้านโภชนาการและการโฆษณาผลิตภัณฑ์”
“ผลการค้นพบนี้ควรกระตุ้นให้บรรดาผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายตื่นตัวได้แล้ว” คณะนักวิจัยระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ส.ค. 67)
Tags: สหรัฐ, อาหาร, โภชนาการ