เงินเฟ้อญี่ปุ่นเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 2.7% เหตุค่าไฟพุ่ง

กระทรวงมหาดไทยของญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลในวันนี้ (23 ส.ค.) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (core CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ไม่นับรวมราคาอาหารสด ปรับตัวขึ้น 2.7% ในเดือนก.ค. 2567 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 2.6% ในเดือนมิ.ย. สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

ดัชนี core CPI ที่ปรับตัวสูงขึ้นได้รับแรงหนุนจากค่าไฟที่พุ่งขึ้นถึง 22% หลังจากรัฐบาลระงับมาตรการอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค ซึ่งชดเชยกับราคาอาหารแปรรูปและค่าที่พักที่ชะลอตัวลง

“ขณะนี้เราคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธ.ค. ถึงแม้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจะไม่ได้รุนแรงมาก แต่เราเชื่อว่า BOJ (ธนาคารกลางญี่ปุ่น) จะยังคงเดินหน้าปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติต่อไป” นายทาคาฟูมิ ฟูจิตะ นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยเมจิ ยาสุดะ ให้ความเห็น

ทั้งนี้ บรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า ผู้ว่าการ BOJ จะผ่อนคลายท่าทีแข็งกร้าวลงจากที่เคยแสดงออกเมื่อเดือนก่อน โดยมุ่งสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนว่าจะไม่รีบร้อนปรับขึ้นดอกเบี้ยและจะไม่ละเลยการรักษาเสถียรภาพของตลาดในระหว่างการพิจารณานโยบาย

ขณะเดียวกัน ดัชนี core-core CPI ซึ่งไม่นับรวมทั้งราคาพลังงานและอาหารสด และเป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มราคาพื้นฐาน แตะที่ระดับ 1.9% ในเดือนก.ค. ชะลอตัวลงจากระดับ 2.2% ในเดือนมิ.ย. โดยลดลงต่ำกว่าระดับ 2% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2565

แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา แต่ BOJ ก็ยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม การที่อัตราเงินเฟ้อลดลงต่ำกว่า 2% อาจเป็นเหตุผลสนับสนุนให้ BOJ ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปเพื่อรอดูข้อมูลเพิ่มเติมก่อน

BOJ ยังคงให้ความสำคัญกับราคาบริการเป็นพิเศษในการวิเคราะห์แนวโน้มเงินเฟ้อ โดยรายงานระบุว่า ราคาบริการปรับตัวสูงขึ้น 1.4% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ชะลอลงจากระดับ 1.7% ในเดือนมิ.ย.

นายทาโร่ คิมูระ นักเศรษฐศาสตร์จากบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ มองว่าการชะลอตัวครั้งนี้เป็นเพราะการเปรียบเทียบกับตัวเลขปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลได้ยกเลิกมาตรการอุดหนุนการท่องเที่ยว ทำให้ตัวเลขในปีนี้ดูเหมือนชะลอตัวลง

“CPI ในญี่ปุ่นเดือนก.ค.ที่สูงขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ซึ่งสอดคล้องกับที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นคาดการณ์ไว้ว่าภาวะเงินเฟ้อกำลังแผ่ขยายไปทั่ว หนึ่งในสาเหตุคือการตัดเงินช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟ ส่วนราคาบริการต่าง ๆ ที่ BOJ จับตามองเป็นพิเศษนั้น แม้จะดูเหมือนว่าชะลอตัวลง แต่ที่จริงแล้วเป็นเพราะเมื่อปีที่แล้วมีการยกเลิกเงินอุดหนุนการท่องเที่ยว ทำให้ตัวเลขปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้วดูต่ำกว่าความเป็นจริง” นายคิมูระกล่าว

อนึ่ง อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นยังคงอยู่ในระดับเท่ากับหรือสูงกว่าเป้าหมาย 2% ที่ BOJ ตั้งไว้ ติดต่อกันมาเป็นเวลา 28 เดือนแล้ว โดยเมื่อวันที่ 31 ก.ค. BOJ ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 0.25% พร้อมทั้งชี้แจงว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังคงติดลบอยู่มาก ซึ่งบ่งชี้ว่าอาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในอนาคต

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ส.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top