นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา Prachachat ESG Forum 2024 หัวข้อ “Time for Action : พลิกวิกฤต โลกเดือด” โดยระบุว่า ปัญหาโลกร้อน ถือเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญ และสร้างการตระหนักรู้ถึงความรุนแรงของปัญหาโลกร้อน เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนแนวทางการแก้ไข
“ปัญหาโลกเดือด ไม่ใช่แค่โลกเดือดอย่างเดียว แต่เราจะเดือดร้อนด้วย ถ้าเราไม่สามารถแก้ปัญหาให้ลุล่วงได้ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้อง take action” รองนายกฯ และ รมว.คลัง กล่าว
พร้อมระบุว่า ในระดับนานาชาติมีการทำสัญญาประชาคมเพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหาโลกผ่านเวที COP26 ซึ่งประเทศไทยก็ต้องดำเนินตามแนวทางนี้ โดยต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% ในอีก 6 ปีข้างหน้า หรือภายในปี ค.ศ.2030 จากนั้นต้องก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 และไปสู่เป้าหมาย Net zero ในปี ค.ศ.2065 ซึ่งช่วงเวลาที่เหลืออีก 6 ปีนั้น หากประเทศไทยไม่สามารถทำได้ ก็เชื่อว่าจะมีผลกระทบแน่นอน
“ตอนนี้เราปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ 370 ล้านตัน ถ้าต้องลด 30% ให้ได้ตามเป้า ก็คือต้องลดให้ได้ 120 ล้านตัน ซึ่งเหลือเวลาแค่ 6 ปี” นายพิชัย กล่าว
ทั้งนี้ การจะดำเนินการให้สำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องมี 3 สิ่งสำคัญ คือ 1.ต้องมี Carbon Credit จัดเก็บไว้อย่างเพียงพอ 2.ต้องมีนโยบาย และการกำกับที่สร้างความเชื่อมั่นว่าวิธีจัดเก็บ Carbon มีความเป็นสากล และเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก และ 3. ต้องซื้อ-ขายได้ผ่านแพลตฟอร์มเหมือนเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDX) อยู่แล้ว แต่ยังไม่ active
นายพิชัย กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีความท้าทายอยู่ ถ้าประเทศไทยสามารถจัดเก็บ Carbon Credit ได้มากกว่าที่ควรเป็น ประเทศไทยก็จะเป็นผู้ส่งออก Carbon Credit ได้ด้วย แทนที่จะเป็นแค่ผู้ซื้อ และมองว่าการผลักดันให้มีแพลตฟอร์มซื้อขาย Carbon Credit ในประเทศไทย คาดว่าจะใช้เวลาไม่นานเพราะมีรูปแบบอยู่แล้ว จะยากแค่เพียงการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการเท่านั้น
“สำหรับเรื่องภาษี ยังไม่ได้กำหนดว่า Capital gain tax ต้องมีหรือไม่ แต่การซื้อขายในตลาดทุนปกติทั่วไป ก็ไม่ได้เก็บอยู่แล้ว แต่ในส่วนของ Carbon tax นั้น สิงคโปร์เริ่มแล้ว ประเทศไทยก็คงต้องเริ่ม” รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าว
ด้าน นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (ตลท.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ESG ได้กลายเป็นกติกาของโลกใหม่ ยอมรับว่า ประเทศไทยยังห่างไกลเป้าหมายโดยรวมอย่างมาก การลงทุนด้าน ESG มีเพียง 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลท. จึงมุ่งผลักดัน ESG ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ สนับสนุนการลงทุนอย่างยั่งยืน เชื่อมโยงผู้ออมเงินในธุรกิจ ESG โดย ตลท. ได้เน้นการจัดทำแพลตฟอร์ม ESG Data เพื่อยกระดับบริษัทจดทะเบียน เชื่อมต่อกับนักลงทุน
ทั้งนี้ ตลท. หวังจะสร้าง Ecosystem ในการพัฒนาความยั่งยืนของตลาดทุนไทย โดย ตลท. ได้จัดตั้ง Thailand ESG Fund หลังประชาชนยังมีการลงทุนใน Thai ESG ในระดับที่ต่ำ จึงได้ตั้งเป้าหมายให้บริษัทจดทะเบียน เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น เช่น การเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, การประเมิน SET ESG Rating
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ส.ค. 67)
Tags: ESG, Prachachat ESG Forum 2024, กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์, ปัญหาโลกร้อน, พิชัย ชุณหวชิร, สัมมนา