นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้ความเห็นต่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่หากมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม เป็นการแจกเงินสดว่า กนง. ได้ติดตามมาตรการการคลัง ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการทำนโยบายการเงินในแต่ละครั้ง โดยกรณีของดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ได้อัพเดทข้อมูลอยู่ตลอดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
ทั้งนี้ หากมีการปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายไปเป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นการให้แบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เรามองไว้ว่าผลต่อเศรษฐกิจจะมีเยอะกว่า เพราะคนในกลุ่มเปราะบางมีโอกาสใช้จ่ายเงินก้อนนี้สูงกว่า เมื่อเทียบกับการใช้จ่ายโดยที่ไม่มีเงินก้อนนี้ ดังนั้น หากปรับรูปแบบไปในกลุ่มเปราะบาง ผลต่อเศรษฐกิจย่อมสูงกว่า แต่อย่างไรก็ดี จะมาพร้อมกับเม็ดเงินที่เล็กลง
ประเด็นสำคัญ คือ ถ้าเป็นเงินโอนให้ประชาชน มัลติพลายเออร์ หรือผลต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจจะมีในระดับที่จำกัด ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับรัฐบาลใช้จ่ายโดยตรง ลงทุนเอง หรือบริโภคเอง ซึ่งจะสร้างกำลังซื้อใหม่ได้ในทันที
“แต่ถ้าส่งให้คน ก็ต้องถามว่า เขาเอาไปใช้จ่ายมากกว่าตอนที่เขาไม่มีเงินหรือเปล่า เพราะมันจะมีการลดทอนลงไปบ้าง จากการออม ซึ่งทำให้แรงกระตุ้นน้อยกว่า ดังนั้น มาตรการกระตุ้น คงต้องรอดูความชัดเจนของรูปแบบก่อน” นายปิติ กล่าว
“เราพยายามอัพเดทตลอดเวลา ต้องขอดูเพิ่มเติมถึงความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง จากที่ประเมินไว้รอบก่อน ดิจิทัลวอลเล็ต ผลต่อเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นปีหน้า และไม่เยอะมาก เพราะลักษณะโครงการ และถ้าต้องเบียดงบการใช้จ่ายภาครัฐในส่วนอื่น จะมีผลสุทธิต่อเศรษฐกิจไม่มาก แต่ถ้ามีการเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ก็ต้องมาประเมินอีกรอบ” นายปิติ กล่าว
อย่างไรก็ดี จากการประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 2.6% และปีหน้า 3% นั้น กนง.ยังไม่ได้รวมผลจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
“ภาพเศรษฐกิจวันนี้ เปลี่ยนน้อยมากจากรอบก่อน ผลจากดิจิทัลวอลเล็ต ก็ไม่เปลี่ยน ดังนั้น ปัจจัยเรื่องการคลังไม่มีอะไรเปลี่ยนไป ในการชั่งน้ำหนักนโยบายการเงินรอบนี้ จึงไม่ได้เป็นประเด็นหลักที่คุยกัน” นายปิติ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ส.ค. 67)
Tags: Digital Wallet, กระตุ้นเศรษฐกิจ, ดิจิทัลวอลเล็ต, ปิติ ดิษยทัต, เงินดิจิทัล, เศรษฐกิจไทย