นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทางรวม 22.1 กม. มูลค่าลงทุนรวม 41,720 ล้านบาท ขณะนี้ได้มีการทบทวนการศึกษาเพิ่มเติม ตามนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย เพื่อวิเคราะห์ปริมาณผู้โดยสารเสร็จแล้ว เตรียมนำเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟม.ชุดใหม่จากนั้นจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)ต่อไป โดยรูปแบบที่เหมาะสมยังเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) เนื่องจากคาดว่าปริมาณผู้โดยสารไม่เกิน 25,000 คน/ชั่งโมง/ทิศทาง และใช้รูปแบบ PPP-Net cost คาดเริ่มก่อสร้างปี 2569
ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งรฟม. ได้ออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ให้ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) แล้วเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2567 ซึ่งการก่อสร้างถือเป็นความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินตลอดสายและผ่านพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่อนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ และลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา และปลายทางที่สถานีศิริราชซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟสายสีแดง และอาคารโรงพยาบาลศิริราช
สำหรับการเวนคืนที่ดินจะมี 2 ส่วนคือ 1.พื้นที่สาธารณะ ซึ่งได้เริ่มหารือ กับทางกทม.เพื่อวางแผนร่วมกัน ในการรื้อย้ายสาธารณูปโภคแล้ว 2.ส่วนนอกพื้นที่สาธารณะและที่ดินเวนคืน จะเป็นที่ดินของประชาชน เอกชน และส่วนราชการ โดยรฟม.ตั้งงบประมาณสำหรับเวนคืน วงเงินประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ผูกพัน 3 ปี เริ่มจากปี 2568 วงเงินประมาณณ 5-6 พันล้านบาท คาดว่าจะเริ่มเข้าพื้นที่สาธารณะได้ก่อน ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2568
ตามเงื่อนไขสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน 1. งานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าช่วงตะวันออกจากศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 3 ปี 6 เดือน 2. ก่อสร้างงานโยธาอุโมงค์และสถานีใต้ดิน พร้อมติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ด้านตะวันตกจากบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี
ส่วนโครงการสีส้ม ด้านตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กม. จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) ปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธาเสร็จแล้วนั้น นายวิทยากล่าวว่า ขณะนี้ BEM อยู่ระหว่าง ออกแบบระบบและจัดซื้อจัดจ้าง ปัจจุบัน รฟม.ยังต้องรับผิดชอบและภาระค่าบำรุงรักษาประมาณ 41 ล้านบาทต่อเดือนไปก่อน โดยใช้กรอบวงเงินของโครงการที่เหลืออยู่ ไม่กระทบงบประมาณแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้ คณะกรรมการมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ได้มีการเจรจากับ BEM และสรุปกำหนดจะมีส่งมอบพื้นที่ให้ BEM ในเดือนเม.ย. 2569
“ตามปกติ โครงการรถไฟฟ้า รฟม.จะก่อสร้างงานโยธาเองและให้สัมปทานงานระบบและเดินรถ ซึ่งตามกติกาเอกชนผู้รับสัมปทานจะรับมอบพื้นที่งานโยธาที่มีความพร้อมและสมบูรณ์เพื่อไปดำเนินการต่อ ซึ่งจะต้องมีการทดสอบระบบ ทดสอบการเชื่อมต่อศูนย์ควบคุม (CCR) เรียกว่า System Integrated Test (SIT) และเห็นชอบร่วมกันก่อนส่งมอบ แต่สายสีส้ม มีความแตกต่างจากเดิม จึงมีการเจรจาเพื่อขอให้เอกชนรับมอบก่อนถึง SIT ซึ่งตกลงกันในช่วงเดือนเม.ย. 2569 “
นายวิทยา กล่าวในโอกาสครบรอบ 32 ปีว่า ที่ผ่านมา รฟม.ได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าแล้วจำนวน 4 สาย ระยะทางเกือบ 150 กม. แนวเส้นทางครอบคลุมพื้นที่และรองรับการเดินทางและการขยายตัวของเมืองในระดับหนึ่ง
ขณะที่ยังมีโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี ระยะทางรวมประมาณ 3 กม. จำนวน 2 สถานี มีความก้าวหน้างานโยธา 69.99% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 49.95% ความก้าวหน้าโดยรวม 63.25% (ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2567) คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568,
โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทางรวม23.63 กม. มีความก้าวหน้างานโยธา 38.22% (ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2567) คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2571 และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม
สำหรับนโยบายรถไฟฟ้าไม่เกิน 20 บาทตลอดสายนั้น นายวิทยากล่าวว่า มีผลตอบรับที่ดี ส่งผลให้สายสีม่วง(เตาปูน-คลองบางไผ่) มีผู้โดยสารสูงสุด (นิวไฮ) กว่า 8.6 หมื่นคน/วัน ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าประมาณการณ์ ทั้งนี้รฟม.ตั้งงบประมาณชดเชยรายได้สายสีม่วงตามนโยบาย 20 บาทตลอดสายที่ 190 ล้านบาท/ปี แต่คาดว่าสรุปผล 1 ปี จะชดเชยต่ำกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม กรณีไม่อุดหนุนเลยจะต้องมีผู้โดยสารมากกว่า 2 แสนคน/วัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ส.ค. 67)
Tags: รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล, รถไฟฟ้าสายสีม่วง, รฟม., วิทยา พันธุ์มงคล