In Focus: สำรวจอภิมหาดีล “เชนค้าปลีกแคนาดาจ่อเทคบริษัทแม่ 7-Eleven” ขณะ “Mars รุกซื้อ Kellanova”

ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูร้อนของอเมริกาและยุโรปที่อากาศกำลังดี ผู้คนพากันใช้เวลาไปกับการท่องเที่ยวชิล ๆ ผ่อนคลายอยู่นั้น ได้เกิดเมกะดีลเรียกเสียงฮือฮาถึง 2 คู่ คือ อาลีมองตาซิยง คูช-ตาร์ (Alimentation Couche-Tard) เชนร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่จากแคนาดาที่ยื่นข้อเสนอเทคโอเวอร์ บริษัท เซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิ้งส์ (Seven & i holdings) เจ้าของร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น (7-Eleven) ในญี่ปุ่น

ส่วนอีกคู่เป็นธุรกิจขนมอย่าง มาร์ส (Mars) เจ้าของแบรนด์ช็อกโกแลตชื่อดัง เอ็มแอนด์เอ็ม (M&M’S) ที่รุกซื้อ เคลลาโนวา (Kellanova) เจ้าของแบรนด์ขนมยอดนิยมอย่าง พริงเกิลส์ (Pringles) ชีสอิท (Cheez-It) และป๊อปทาร์ต (Pop-Tarts) ขนมอบสีหวานสดใส ซึ่งหากสามารถตกลงซื้อกิจการกันได้เรียบร้อย ดีลมูลค่า 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์นี้จะกลายเป็นหนึ่งในการซื้อกิจการครั้งใหญ่ที่สุดในธุรกิจขนมขบเคี้ยวเลยทีเดียว

เมกะดีลใน 2 ฟากโลกเกิดขึ้นได้อย่างไร In Focus จะพาไปค้นหาคำตอบ โดยขอเริ่มที่ดีลระหว่างคูช-ตาร์ กับเซเว่น แอนด์ ไอ กันก่อน

เจาะแผนเทคโอเวอร์ เซเว่น แอนด์ ไอ ของ คูช-ตาร์

ที่ผ่านมา คูชตาร์เคยติดต่อทาบทามเพื่อซื้อกิจการของเซเว่น แอนด์ ไอ มาแล้วเมื่อปี 2563 การกลับมาคุยกับเซเว่น แอนด์ ไอ อีกครั้งในปีนี้ จึงก่อให้เกิดคำถามตามมา นักวิเคราะห์ของไลท์สตรีม รีเสิร์ช กล่าวถึงดีลล่าสุดนี้ว่า เราสงสัยว่าข้อเสนอซื้อกิจการครั้งนี้จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่ หากมองจากจุดยืนของเซเว่น แอนด์ ไอ ที่ไม่อยากจะแตกกิจการหลักของบริษัทแล้ว ถ้าข้อเสนอจากคูช-ตาร์ ให้ผลประโยชน์แบบที่ยากจะปฏิเสธ ดีลนี้ก็น่าจะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ การเสนอซื้อกิจการครั้งนี้ยังเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกมาตรการที่ทำให้ข้อเสนอซื้อกิจการเป็นเรื่องยากปฏิเสธสำหรับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น โดยการเปลี่ยนแปลงแนวทางการเข้าซื้อกิจการนี้คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่ญี่ปุ่น

ย้อนกลับไปในปี 2563 ทั้งเซเว่น แอนด์ ไอ และคูช-ตาร์ ต่างเป็นคู่แข่งในการเสนอซื้อกิจการ สปีดเวย์ (Speedway) เชนปั๊มน้ำมันในสหรัฐ ซึ่งท้ายที่สุด เซเว่น แอนด์ ไอ เป็นฝ่ายคว้าดีลไปได้ด้วยมูลค่า 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์

ที่ผ่านมา เซเว่น แอนด์ ไอ ถูกกดดันจากนักลงทุนให้ขายสินทรัพย์ที่ทำผลงานได้ไม่ดี แล้วมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจร้านสะดวกซื้อทั่วโลกมากขึ้น โดยมีแบรนด์ เซเว่น อีเลฟเว่น เป็นหัวหอกสำคัญ

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวล่าสุดส่งผลให้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (19 ส.ค.) ราคาหุ้นของเซเว่น แอนด์ ไอ พุ่งขึ้นถึง 22.7% หรือ 400 เยน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่อนุญาตให้ซื้อขายได้ในวันเดียว ดันมูลค่าตลาดของเซเว่น แอนด์ ไอ แตะ 5.6 ล้านล้านเยน (3.8 หมื่นล้านดอลลาร์) ขณะที่คูช-ตาร์ มีมูลค่าตลาดราว 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์

เซเว่น แอนด์ ไอ มีร้านในเครือมากกว่า 83,000 แห่งทั่วโลก ซึ่งรวมถึง เซเว่น อีเลฟเว่น และสปีดเวย์ในสหรัฐ ล่าสุด บริษัทได้ตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวแล้ว แต่ทั้งคณะกรรมการพิเศษและคณะกรรมการบริษัทต่างยังไม่ได้ข้อสรุปใด ๆ

หนังสือพิมพ์นิกเกอิของญี่ปุ่นรายงานว่า หากการเจรจาซื้อขายสำเร็จ นี่จะเป็นการเข้าซื้อกิจการญี่ปุ่นโดยบริษัทต่างชาติครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว แบรนด์ต่าง ๆ ของคูช-ตาร์ มีส่วนแบ่งตลาด 4.6% ดังนั้น การรวมกิจการทั้งสองเข้าด้วยกันจะทำให้เกิดธุรกิจที่คุมตลาดได้ในสัดส่วนถึงเกือบหนึ่งในห้า

อย่างไรก็ดี การซื้อกิจการครั้งนี้ไม่ใช่ว่าจะไร้ซึ่งอุปสรรค เพราะการซื้อบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นนั้นมีความซับซ้อน แม้ว่าญี่ปุ่นจะได้ปฏิรูประบบระเบียบเพื่อให้การซื้อกิจการสะดวกขึ้น แต่บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็จะระมัดระวังตัวและไม่ยินดีเท่าไรนักกับการเปลี่ยนแปลง

สรุปแล้ว คูช-ตาร์ ต้องการที่จะขยายเครือข่ายออกไป และหากเมกะดีลนี้คืบหน้า คูช-ตาร์ ก็จะได้ขยายธุรกิจไปยังทวีปอื่น ๆ หลังจากที่ประสบความสำเร็จกับการทำธุรกิจในอเมริกาเหนือจากแบรนด์คูช-ตาร์ และร้านสะดวกซื้อ เซอร์เคิล เค (Circle-K) รวมทั้งกิจการในยุโรปอย่าง อินโก (Ingo)

 

มาร์ส เดินหน้าซื้อ เคลลาโนวา

เมกะดีลคู่นี้ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เนื่องจากเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีสินค้าดังอยู่ในมือทั้งคู่ และหากดีลคู่นี้สำเร็จก็จะเป็นหนึ่งในการซื้อกิจการครั้งใหญ่สุดในอุตสาหกรรมขนมทานเล่น เพราะดีลอาจจะมีมูลค่าถึง 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์

เคลลาโนวา หรือที่รู้จักกันในชื่อ เคลล็อก มีแบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียงหลายแบรนด์ในมือ เช่น พริงเกิลส์ ชีสอิท ป๊อปทาร์ต นิวทริเกรน (NutriGrain) และเอ็กโก (Eggo) โดยเคลลาโนวาเกิดขึ้นจากการแยกธุรกิจซีเรียลของเคลล็อกออกจากแบรนด์ขนมขบเคี้ยวและผลิตภัณฑ์จากพืชในปี 2566 ธุรกิจซีเรียลถูกแยกออกมาเป็นบริษัท ดับเบิลยูเค เคลล็อก (WK Kellogg Co.) ในขณะที่เคลลาโนวาบริหารจัดการสินค้าหลักที่ใช้แบรนด์เคลล็อกในซูเปอร์มาร์เก็ต

ในขณะที่ มาร์ส ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ขนมช็อกโกแลตชื่อดังอย่าง เอ็มแอนด์เอ็ม และสนิกเกอร์ส (Snickers) รวมไปถึงหมากฝรั่งและขนมขบเคี้ยวอีกหลายแบรนด์ ได้ขยายธุรกิจไปสู่ผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยงและบริการด้านสัตวแพทย์เมื่อเร็ว ๆ นี้ หลายฝ่ายมองว่า ความพยายามในการเข้ามาซื้อกิจการครั้งล่าสุดนี้จะทำให้เกิดอาณาจักรแห่งขนมหวานและขนมขบเคี้ยวทานเล่นครบครันภายในอาณาจักรเดียวกัน ซึ่งจะมีส่วนทำให้ธุรกิจขนมขบเคี้ยวของมาร์สขยายตัวขึ้นถึง 2 เท่าในช่วง 10 ปีข้างหน้า

สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้ สื่อต่างประเทศมองว่า เคลลาโนวามีฐานธุรกิจในต่างประเทศที่ใหญ่กว่า ซึ่งจะช่วยให้มาร์สขยายธุรกิจไปได้ในวงกว้างในต่างประเทศ อีกทั้งยังสามารถพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กร ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเคลลาโนวาได้

สตีฟ คาฮิลเลน ซีอีโอ ประธาน และประธานกรรมการของเคลลาโนวา กล่าวว่า มาร์สเข้าหาเคลลาโนวาเมื่อไม่กี่เดือนก่อน เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อตกลงนี้ โดยเคลลาโนวามีรายได้สูงกว่าคาดการณ์ในช่วงไม่กี่ไตรมาสที่ผ่านมา และแนวโน้มทั้งปีก็จะยังคงดี แม้ว่าจะต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายก็ตาม

“ผมคาดว่า เมื่อมาร์สเห็นโมเมนตัมนี้ จะทำให้พวกเขาก้าวออกมาและพูดว่า ‘คุณรู้ไหม ถึงเวลาแล้ว เราควรคุยกับคุณ'” สตีฟ คาฮิลเลน ซีอีโอของเคลลาโนวา กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าการซื้อกิจการเคลลาโนวาของมาร์สจะเสร็จสิ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 หากการซื้อกิจการเรียบร้อย เคลลาโนวาจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของมาร์ส สแน็กกิ้ง (Mars Snacking) ซึ่งตั้งอยู่ในชิคาโกเช่นกัน คาฮิลเลนกล่าวว่า แม้ว่าบางฟังก์ชันขององค์กรอาจถูกรวมเข้าด้วยกัน แต่คาดว่าพนักงานส่วนใหญ่ของเคลลาโนวาจะถูกรวมเข้ากับมาร์ส

“พวกเขามีโรงงานผลิตหมากฝรั่ง โรงงานอาหารสัตว์เลี้ยง เรามีโรงงานผลิตพริงเกิลส์และชีสอิท คุณไม่สามารถผลิตอาหารของเราในโรงงานของพวกเขาได้”

คาฮิลเลนกล่าว พร้อมทั้งเผยด้วยว่า เขาจะบริหารเคลลาโนวาจนกว่าข้อตกลงจะเสร็จสิ้น

มาร์ส ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเมืองแมคลีน รัฐเวอร์จิเนีย เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา มาร์สรายงานว่ามียอดขายสุทธิ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2566 และมีพนักงาน 150,000 คน

แอนดรูว์ คลาร์ก ประธานธุรกิจขนมขบเคี้ยวของมาร์ส กล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า “แบรนด์ของเคลลาโนวาจะช่วยขยายแพลตฟอร์มสแน็กของเราอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เราสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจที่มีกำไรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

เมกะดีลทั้ง 2 ดีลนี้ชี้ให้เห็นว่า การซื้อและผนวกกิจการกับพันธมิตรที่เหมาะสมเป็นกลยุทธ์ที่ใช้งานได้สำหรับการขยายฐานธุรกิจและเครือข่าย และความเคลื่อนไหวเช่นนี้ยังคงเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะไม่ค่อยสดใสเท่าไรนักก็ตาม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ส.ค. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top