ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยในวันนี้ (21 ส.ค.) ว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของเกาหลีใต้ปรับตัวขึ้นในเดือนก.ค. สวนทางเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลสะท้อนจากราคาสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรที่ขยับตัวสูงขึ้น
ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า ดัชนี PPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ดีดตัวขึ้น 0.3% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน จากที่ลดลง 0.1% ในเดือนมิ.ย.
เมื่อเทียบเป็นรายปี ดัชนี PPI เดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 2.6% สูงกว่าในเดือนมิ.ย. ที่เพิ่มขึ้น 2.5%
สาเหตุหลักที่ทำให้ดัชนี PPI ปรับตัวขึ้นมาจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น 1.6% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และราคาสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยับขึ้น 0.3% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน
สำนักข่าวยอนฮัปรายงานว่า ดัชนี PPI เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดทิศทางเงินเฟ้อ เนื่องจากมีอิทธิพลต่อราคาสินค้าที่ภาคธุรกิจจะเรียกเก็บจากผู้บริโภคในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
สำหรับอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคของเกาหลีใต้ในเดือนก.ค. ปรับตัวขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากราคาผลไม้และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่พุ่งสูง แม้ว่าจะยังคงต่ำกว่าระดับ 3% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ก็ตาม
อนึ่ง ข้อมูลจากสำนักงานสถิติเกาหลีระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค แตะที่ระดับ 2.6% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี จากระดับ 2.4% ในเดือนมิ.ย. นับเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือนที่ CPI ปรับตัวขึ้น
เมื่อเดือนที่แล้ว BOK มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.5% ซึ่งเป็นการคงดอกเบี้ยในการประชุม 12 ครั้งติดต่อกัน ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
การตรึงดอกเบี้ยของ BOK มีขึ้นหลังจากที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันในการประชุม 7 ครั้งนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2565 จนถึงเดือนม.ค. 2566
สำหรับสัปดาห์นี้ คาดว่า BOK จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ส.ค. 67)
Tags: BOK, PPI, ดัชนีราคาผู้ผลิต, ธนาคารกลางเกาหลีใต้, เกาหลีใต้, เงินเฟ้อ